การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อื่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน หากรู้ว่าจะต้องมองหาสิ่งมีชีวิตที่จุดไหน สำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตในจักรวาล ดาวอังคารเป็นเป้าหมายหลักที่องค์กรด้านอวกาศทั่วโลกมุ่งเป้าในการศึกษา ที่ดูเหมือนนักวิทยาศาสตร์(เริ่ม)เอื้อมถึง แต่ก็ยังเอื้อมถึงไม่ง่ายขนาดนั้น เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเก็บตัวอย่างบนดาวอังคาร หรือเข้าถึงเครื่องมือสำรวจระยะไกลเมื่อมีการออกสำรวจสิ่งมีชีวิตนอกโลก
ดร. Kim Warren-Rhodes นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสจากสถาบัน SETI Institute ได้ทำแผนที่เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตที่ซ่อนตัวอยู่หรือตรวจสอบส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต (Biosignatures) เช่น สารประกอบทางเคมี ไอโซโทป หรือส่วนประกอบของเซลล์ ในโดมเกลือ (salt domes) หิน และคริสตัลในบริเวณลานเกลือธรรมชาติ Pajonales ของชิลี ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่สมมุติแทนดาวอังคาร เนื่องด้วย Pajonales อยู่ที่ระดับความสูง 3,541 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีปริมาณรังสียูวีสูง สภาพอากาศที่แห้ง ซึ่งโดยรวมเป็นพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของสิ่งมีชีวิต แต่ก็ยังพอที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้
โดย ดร. Rhodes ได้ฝึกโมเดลการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning model) ให้รู้จักรูปแบบและกฎที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระหว่างการศึกษาทีมนักวิจัยได้รวบรวมภาพกว่า 7,765 ภาพ และตัวอย่าง 1,154 ตัวอย่าง อีกทั้งทดสอบเครื่องมือเพื่อตรวจจับจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์แสงที่อยู่ภายในโดมเกลือ หิน และผลึกอะลาบาสเทอร์ (Alabaster) โดยตรวจจับเม็ดสีที่จุลินทรีย์เหล่านี้คายออกมา ผลการศึกษาที่ได้ พบว่า AI สามารถระบุตำแหน่งและตรวจจับส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต (Biosignatures) ได้มากถึง 87.5% และลดพื้นที่สำหรับการค้นหาได้ถึง 97% อีกทั้ง จากผลการศึกษายืนยันว่า จุลินทรีย์ที่บริเวณ Pajonales ไม่ได้กระจายแบบสุ่ม แต่มีการกระจุกตัวเป็นหย่อมๆ ซึ่งจากการศึกษานี้ คาดว่าในอนาคตจะสามารถใช้ AI ในการค้นหาและทำนายรูปแบบการมีชีวิตรอด และการกระจายตัวในภูมิประเทศที่รุนแรง ซึ่งทีมนักวิจัยหวังว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ในการทำแผนที่สภาพแวดล้อมและศึกษาส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต อีกทั้งอาจปรับอัลกอริทึมใช้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ในระดับต่างๆ
Comments