top of page

การลดเงินสนับสนุน ส่งผลกระทบต่อโครงการวิจัยนิวเคลียร์ของอาร์เจนตินา

การลดงบประมาณอย่างมหาศาลได้ส่งผลกระทบต่อโครงการวิจัย และพัฒนานิวเคลียร์ของอาร์เจนตินา การก่อสร้างที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองนั้นไม่มีการเคลื่อนไหว และวิศวกรที่มีประสบการณ์หลายปีกำลังจะลาออกจากภาคเอกชน โดย Andrés Kreiner นักฟิสิกส์จากศูนย์ปรมาณู Constituyentes Atomic Centre ของอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นหนึ่งในสามห้องปฏิบัติการวิจัยนิวเคลียร์หลักของประเทศกล่าวว่า “เมื่อคนทำงานขาดทรัพยากรในการทำงาน พวกเขาก็หมดกำลังใจ”


ภายใต้ประธานาธิบดี Javier Milei ซึ่งให้คำมั่นว่าจะควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา เงินงบประมาณสำหรับคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งชาติ (National Atomic Energy Commission หรือ CNEA) ของประเทศได้ลดลงจากประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ต่อปี เหลือประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สำหรับปีนี้ น้อยกว่า 40% ของจำนวนเงินที่จำเป็นในการรักษาโครงการปัจจุบันของ CNEA ซึ่งมีพนักงานกว่า 3,800 คน ดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามแห่ง และเครื่องปฏิกรณ์วิจัยหกเครื่อง นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานอาจหมดเงินงบประมาณในฤดูร้อนนี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์เครื่องใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ รวมถึงการผลิตไอโซโทปทางการแพทย์ และการสร้างเครื่องมือผลิตลำแสงนิวตรอนที่ทันสมัยที่สุดในละตินอเมริกา สำหรับการศึกษาวัสดุต่างๆ Diego Hurtado นักฟิสิกส์และอดีตรองประธานของ CNEA ซึ่งออกจากหน่วยงานเมื่อ Milei เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2023 กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญกับการถูกปลด และมุ่งหน้าสู่อัมพาตซึ่งเป็นอันตรายต่อภาคส่วนนิวเคลียร์”


อาร์เจนตินามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการวิจัย และพัฒนานิวเคลียร์ของอเมริกาใต้ ในทศวรรษที่ผ่านมา CNEA ได้พยายามออกแบบ และสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลังงานแบบโมดูลาร์ขนาดเล็กใน Argentine Center of Modular Elements (CAREM) และเครื่องปฏิกรณ์วิจัยอเนกประสงค์ตัวใหม่ที่เรียกว่า RA-10 ขณะนี้ทั้งสองโครงการต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน


เครื่องปฏิกรณ์พลังงานแบบโมดูลาร์ขนาดเล็กที่รู้จักกันในชื่อ CAREM เป็นหนึ่งในโครงการนิวเคลียร์ในอาร์เจนตินา ที่เผชิญกับความไม่แน่นอนเนื่องจากการถูกตัดเงินงบประมาณ

เครดิภาพ: MARIADELMAR28/WIKIMEDIA COMMONS; www.science.org


RA-10 ซึ่งจะมาแทนที่เครื่องปฏิกรณ์ที่มีกำลังน้อยกว่า มีกำหนดเปิดตัวในปี 2025 ความล่าช้า หรือการยกเลิกอาจส่งผลกระทบในวงกว้างสำหรับนักวิจัย ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 30 เมกะวัตต์นี้ควรจะผลิตนิวตรอนสำหรับห้องปฏิบัติการลำแสงนิวตรอนของอาร์เจนตินา (Argentine Neutron Beam Laboratory หรือ LAHN) ซึ่งนักวางแผนหวังให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค สำหรับการฝึกอบรม และการทดลองวิทยาศาสตร์นิวตรอน ในบรรดากิจกรรมอื่นๆ นักวิจัยวางแผนที่จะใช้ลำแสงจาก LAHN เพื่อทดสอบแท่งเชื้อเพลิง และวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ พวกเขายังหวังที่จะฉายรังสีซิลิคอนด้วยนิวตรอน ทำให้เกิดซิลิคอน "โดป (doped)" ที่สามารถขายให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ นอกจากนี้ RA-10 ยังผลิตไอโซโทปรังสี (radioisotopes) ที่ใช้ในการแพทย์ ซึ่งรวมถึงไอโซโทปรังสีบางชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในอาร์เจนตินาในปัจจุบัน Natalia Stankevicius ผู้จัดการฝ่ายการผลิตไอโซโทปรังสีและการประยุกต์ใช้รังสีของ CNEA กล่าวว่า ประเทศอาจสูญเสีย "ความสามารถในการรักษาห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด (สำหรับไอโซโทปทางการแพทย์) หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่พลิกกลับ" อาร์เจนตินาได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อ RA-10 และเจ้าหน้าที่กล่าวว่าจำเป็นต้องเพิ่มอีก 80 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้น


ทีมอื่นๆ ที่ทำงานด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (nuclear medicine) ต่างก็กังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาเช่นกัน อีกเพียง 2 ปีก็จะเสร็จสิ้นการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับการบำบัดรักษาโรคด้วยการดักจับโบรอนนิวตรอน (boron neutron capture therapy) ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งบางชนิด อีกโครงการหนึ่งต้องการเงินประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างศูนย์บำบัดรักษาด้วยโปรตอน (Argentine Proton Therapy Center) ในบัวโนสไอเรส ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกในละตินอเมริกา Jesuana Aizcorbe ประธานศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์และโมเลกุล Entre Ríos กล่าวว่า “คงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากหากโครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ” และเธอกล่าวเสริมว่า “เป็นการยากที่จะมองในแง่ดี”


ยังมีข้อสงสัยเกิดขึ้นอีกเกี่ยวกับชะตากรรมของ CAREM ซึ่งเห็นได้จากความล่าช้ามากมาย นับตั้งแต่มีการเสนอโครงการครั้งแรกในทศวรรษ 1980 นักวางแผนหวังว่า โรงงานที่จะแล้วเสร็จในปี 2070 จะสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ห่างไกล และเขตอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโรงแยกเกลือออกจากน้ำทะเลในพื้นที่ชายฝั่งที่มีน้ำจืดค่อนข้างจำกัด โครงการนี้ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 600 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะใช้เพิ่มอีก 300 ล้านดอลลาร์ให้แล้วเสร็จ ในการระดมเงินนั้น มีรายงานว่ารัฐบาลกำลังสำรวจการแปรรูปโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของอาร์เจนตินาที่มีอยู่ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่า 10% ของประเทศ แต่สำหรับ CAREM ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองซาราเตกลับเงียบสงบ และเนื่องจากการลดงบประมาณ ทำให้ผู้ก่อสร้างต้องเลิกจ้างคนงาน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Spending cuts imperil Argentina’s ambitious nuclear research programs สืบค้นเมื่อ 16 พ.ค. 2567 จาก https://www.science.org/content/article/spending-cuts-imperil-argentina-s-ambitious-nuclear-research-programs

Comments


bottom of page