top of page

การเข้าพบหารือกับผู้แทน UNLV และการประชุม Ai4 ณ รัฐเนวาดา


อทป.อว.(วต.) เข้าพบหารือกับผู้แทน University of Nevada, Las Vegas (UNLV)

เมื่อวันที่ 12-14 สิงหาคม 2567 นายฐิติเดช ตุลารักษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) สำนักงานที่ปรึกษาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน (อทป.อว.(วต.)) ได้เข้าพบหารือกับผู้แทนของ University of Nevada, Las Vegas (UNLV) ประกอบด้วย Ms. Lindsey Gruber, Executive Director, International Student and Scholar Services; Mr. Gregory Stephany, Executive Director, International Programs; Dr. Jacob Thompson, Associate Vice Provost for Undergraduate Education and High-Impact Practices; Prof. Rama Venkat, Dean, College of Engineering; Prof. Yingtao Jiang, Associate Dean for Undergraduate Programs, College of Engineering, Mr. Marty Bennett, Director of Global Recruitment and Partnerships และ Assoc. Prof. Mark Padoongpatt, Asian and Asian American Studies โดย UNLV เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความความร่วมมือกับไทยอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะมีการจัดการเรียนการสอนร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา และมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นนักศึกษาสามารถเข้าเรียนและโอนหน่วยกิตได้ นอกจากนี้ UNLV ยังได้เข้าร่วมโครงการ International Academic Partnership Program (IAPP) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ U.S. Department of State และร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศไทยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เมื่อเดือนเมษายน 2567 โดยความร่วมมือกับกระทรวง อว.


UNLV เห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยและโอกาสขยายความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ อทป.อว.(วต.) ได้เสนอแนวทางการยกระดับความร่วมมือให้เกิด Dual Appointment Faculty Members ซึ่งจะสนับสนุนทั้งการเพิ่ม ranking ให้กับมหาวิทยาลัยไทยจากการมีอาจารย์ประจำจากต่างชาติ การแลกเปลี่ยนอาจารย์ในรูปแบบที่ยั่งยืนขึ้น้ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมืออื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ UNLV ได้เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ที่จะเป็น international community ตั้งแต่การให้ความสำคัญโดยผู้บริหารระดับสูงจนถึงการพัฒนาโครงการและรูปแบบความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแบบ 3+1 หรือการเรียน 3 ปี ในมหาวิทยาลัยเดิมและเดินทางไปศึกษาในปีที่ 4 ณ partner university


ภายในห้องสมุดของ UNLV มีระบบจัดเก็บและให้ยืมหนังสือด้วยหุ่นยนต์Automated Storage and Retrieval System (ASRS) ที่ลดพื้นที่จัดเก็บได้ถึงสิบเท่า และมีห้องปฏิบัติการพิมพ์ ๓ มิติและขึ้นรูปชิ้นงาน (Makerspace)



UNLV College of Engineering มีความโดดเด่นในหลายด้าน ทั้งการเป็นคณะขนาดใหญ่มีนักศึกษาปริญญาตรีกว่า 3,600 คน มีนักศึกษาปริญญาโทและเอกกว่า 100 คน โดยเป็นนักศึกษาต่างชาติกว่าครึ่งหนึ่ง มีสาขาวิชา multi-disciplinary อาทิ นิวเคลียร์ ไซเบอร์ และการบันเทิง (เทคโนโลยีการแสดง ระบบแสง เสียง เวที ฯลฯ ซึ่งเข้ากับบริบทของลาส เวกัส) คณาจารย์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และมีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง


จากนั้น อทป.อว.(วต.) ได้เข้าร่วมการประชุม Ai4 ณ เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในงานประชุมที่ใหญ่ที่สุดในวงการ AI รวมนักวิชาการ บุคลากรเทคนิค บุคลากรด้านนโยบาย นักธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคพัฒนา ภาคการตลาด และผู้ใช้งาน สืบเนื่องจาก AI เป็นวาระสำคัญของ อว. และสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้นำด้าน AI โดยคาดหวังที่จะได้รับข้อมูลพัฒนาการใหม่ใน AI ทั้งประเด็นด้านการกำกับดูแล จริยธรรม การอยู่ร่วมกันของสังคมและ AI รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ในอนาคต


การบรรยายใน General Session โดย Prof. Geoffrey Hinton



Ai4 เปิดงานด้วยปาฐกถาของ Prof. Geoffrey Hinton ซึ่งถูกขนานนามในวงการว่าเป็น "Godfather of AI" Prof. Hinton ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ AI ในปัจจุบันที่เริ่มจากการศึกษา neural network และการใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้โดยคอมพิวเตอร์ (Machine Learning: ML) ซึ่งปัจจุบันแม้แต่ภาษาที่มีความซับซ้อนก็สามารถเรียนรู้และสังเคราะห์ประโยคที่มีความหมายได้อย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ผ่านการฝึกฝนด้วยข้อมูล (ที่ถูกต้อง) ซึ่ง Large Language Model (LLM) เป็นของ AI ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และได้กล่าวถึงภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งภาพปลอม คลิปปลอม การลดอัตราการจ้างงาน การหลอกลวงบนโลกออนไลน์


การบรรยายใน General Session การคาดการณ์มูลค่าการลงทุนในตลาด AI ที่อาจสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระหว่างปี 2024 -2027

โดย Mr. Rohit Tandon



การบรรยายใน Track Session หัวข้อ Leveraging AI for Education



มีความตระหนักถึงประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ AI ช่วยการเรียนการสอนได้ทั้งในระดับโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการปรับใช้ในหลักสูตรการสอน ใช้ช่วยบริหารจัดการการเรียนและการสอน และประยุกต์ใช้กับ assignment ควบคู่ไปกับการเข้าใจเนื้อหาวิชาอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามในอีกมุมมองนั้นก็จำเป็นต้องมีมาตรการและนโยบายที่ชัดเจนในการใช้ AI ของนักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะ GenAI อย่าง ChatGPT เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดกฎสถาบันฯ หรือผิดหลักจริยธรรม ด้วยการสร้างสมดุลการใช้งาน AI และสร้างความเชื่อใจกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนในการใช้งาน AI

Comments


bottom of page