top of page

ทรัมป์สั่งทบทวนกฎความปลอดภัยจากรังสี เพื่อส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์

  • Writer: OST Washingtondc
    OST Washingtondc
  • Jun 4
  • 1 min read


มีระดับรังสีที่ปลอดภัยหรือไม่?

ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน และล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้นำกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง จากความพยายามขยายบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปธน. ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร 4 ฉบับ เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ โดยฝ่ายบริหารระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยรับมือกับความเสี่ยงด้านพลังงาน รองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากศูนย์ข้อมูลและ AI นอกเหนือจากการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนที่ดินของรัฐบาลกลางและการขยายเหมืองยูเรเนียมภายในประเทศ คำสั่งเหล่านี้ยังเรียกร้องให้มีการทบทวนแบบจำลองทางเทคนิคที่คณะกรรมาธิการกำกับกิจการนิวเคลียร์ (Nuclear Regulatory Commission: NRC) ใช้ในการกำหนดขีดจำกัดของการได้รับรังสีไอออไนซ์ ซึ่งเป็นรังสีที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

 

ผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์บางกลุ่มให้ความเห็นว่า โมเดลความปลอดภัยของ NRC มีความเข้มงวดและมีต้นทุนสูงเกินไปจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ทำเนียบขาวระบุว่า “แบบจำลองเหล่านี้ขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และนำไปสู่ข้อกำหนดที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น การกำหนดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องป้องกันรังสีแม้ในระดับที่ต่ำ แทนที่จะสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย NRC กลับมุ่งเน้นการปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงที่แทบไม่มีอยู่จริง โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์จากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว” การทบทวนโมเดลนี้มีแนวโน้มที่จะจุดประกายการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของรังสีในระดับต่ำ รวมถึงข้อเสนอที่ว่าการได้รับรังสีในปริมาณเล็กน้อยอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ


 หอคอยหล่อเย็นที่โรงไฟฟ้า Alvin W. Vogtle ในเมือง Waynesboro รัฐ Georgia ซึ่งมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 เครื่อง Credit: Mike Stewart/AP



เหตุใดทรัมป์จึงมุ่งเป้าไปที่ NRC?

ทำเนียบขาวชี้ว่า NRC ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1975 เพื่อดูแลความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ กลายเป็นหน่วยงานที่ขัดขวางการอนุมัติโครงการเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ โดยระบุว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 NRC ได้อนุมัติเครื่องปฏิกรณ์ใหม่เพียง 5 รายการ และมีเพียง 2 แห่งที่ได้รับการก่อสร้างจริง ขณะที่ในช่วง 26 ปีก่อนหน้านั้น มีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์มากถึง 133 เครื่อง ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีเครื่องปฏิกรณ์ที่ยังใช้งานอยู่ 94 เครื่อง ในโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 54 แห่งทั่ว 28 รัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ และเพื่อเร่งกระบวนการอนุมัติโรงไฟฟ้าใหม่ ทรัมป์ต้องการปรับโครงสร้าง NRC ให้มีขนาดเล็กลง และกำหนดกรอบเวลาใหม่ โดยให้หน่วยงานต้องตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายใน 18 เดือนสำหรับการขออนุญาตก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ และภายใน 12 เดือนสำหรับคำขอต่ออายุเครื่องปฏิกรณ์เดิม

 

โมเดลความปลอดภัยที่เป็นประเด็นคืออะไร?

ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงจากรังสีส่วนใหญ่อิงจากการศึกษาผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นตามปริมาณรังสีที่ได้รับในลักษณะเส้นตรง กล่าวคือ ไม่มีระดับรังสีที่ “ปลอดภัย” เลย แบบจำลองนี้เรียกว่า Linear No-Threshold (LNT) Model ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์ และเป็นพื้นฐานของกฎระเบียบอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางของ NRC ที่ระบุให้การได้รับรังสี “น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (as low as reasonably achievable)” อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางรายแย้งว่าแบบจำลอง LNT เข้มงวดเกินความจำเป็น โดยอ้างงานวิจัยที่ชี้ว่าการได้รับรังสีในระดับต่ำอาจไม่เป็นอันตราย หรืออาจมีผลดีต่อสุขภาพ (hormesis) อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 NRC ได้ปฏิเสธคำร้องที่ขอให้เปลี่ยน โดยระบุว่า “ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ” ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าว

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้สั่งให้ NRC กำหนด “ขีดจำกัดรังสีที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (science-based radiation limits)” ใหม่ภายใน 18 เดือน โดยเฉพาะการพิจารณาทบทวนโมเดล LNT และแนวทาง “น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” การเปลี่ยนแปลงนี้อาจต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการท้าทายทางกฎหมาย

 

ปฏิกิริยาต่อคำสั่งฝ่ายบริหารเป็นอย่างไร?

อุตสาหกรรมนิวเคลียร์และกลุ่มที่มองว่านิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดต่างสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยมองว่าเป็นการปฏิรูประเบียบที่ล้าสมัยและเข้มงวดเกินไป อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญบางรายเตือนว่า การปรับลดมาตรฐานความปลอดภัยอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชน และเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพในระยะยาว

 

-------------------

ที่มา:

To boost nuclear power, Trump orders controversial rewrite of radiation safety rules, www.science.org/content/article/boost-nuclear-power-trump-orders-controversial-rewrite-radiation-safety-rules

Trump plan for fast-tracking nuclear power takes aim at regulators, www.washingtonpost.com/business/2025/05/23/trump-nuclear-nrc-reactors

Σχόλια


สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

Office of Higher Education, Science, Research and Innovation
Royal Thai Embassy, Washington D.C.

2025 All Rights Reserved
+1 (202) 944-5200
ost@thaiembdc.org
facebook.com/ohesdc

 
1024 Wisconsin Ave. NW Suite 104,
Washington D.C 20007
bottom of page