นักวิจัยจากประเทศแคนาดาใช้โปรตีนในไวรัส เพื่อการบำบัดรักษาโรคด้วยการนำส่งสารพันธุกรรม เช่น DNA และ RNA ไปยังเซลล์เป้าหมายโดยไม่ถูกตับขัดขวาง
Graphical abstract. Credit: Cell (2024). DOI: 10.1016/j.cell.2024.07.023
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนำส่งยา (Drug delivery) ด้วยอนุภาคนาโนลิพิด (Lipid nanoparticle หรือ LNP) ซึ่งประกอบด้วยคอเลสเตอรอล ถูกนำส่งไปยังตับก่อนและกำจัดออกจากร่างกาย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการแพทย์เชิงพันธุกรรม (Genetic medicine) เช่น การบำบัดด้วยยีน (Gene Therapy) การใช้วัคซีน mRNA และการตัดแต่งยีน ไม่ได้นำส่งไปถึงเซลล์เป้าหมาย ในการค้นหากลไกการนำส่งแบบไม่ผ่านตับนั้น John Lewis แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ประจำคณะแพทยศาสตร์ University of Alberta ได้ทำงานร่วมกับ Roy Duncan นักไวรัสวิทยาจาก Dalhousie University ประเทศแคนาดา ผู้ค้นพบโปรตีนที่สร้างโดยไวรัส fusogenic orthoreovirus ซึ่งโปรตีนชนิดนี้มีความสามารถในการรวมเซลล์เข้าด้วยกัน (Fusion-associated small transmembrane (FAST) proteins) ด้วยการผสมผสานโปรตีนนี้กับ LNP ที่ถูกดัดแปลงและออกแบบมาเพื่อการนำส่ง ทีมวิจัยจึงสามารถออกแบบพาหนะในการนำส่งที่ประกอบด้วยโปรตีโอลิพิด (Proteolipid vehicle) หรือที่เรียกว่า FAST-PLV ได้สำเร็จ วิธีนี้จะหลีกเลี่ยงการนำส่งไปที่ตับก่อน ทำให้การรักษาสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังบริเวณต่างๆ เช่น สมองและปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีนี้มีความเป็นพิษน้อยกว่าวิธีการนำส่งด้วยวิธีอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายความว่าสามารถใช้ FAST-PLV ซ้ำได้หลายครั้งในการรักษาโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทีมวิจัยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งที่กำลังดำเนินการอยู่ และตั้งเป้าหมายว่าภายในสองปีข้างหน้า จะมีการทดลองการรักษาโรค Stargardt หรือ โรคจอตาที่เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังมองเห็นความเป็นไปได้ในการรักษาโรคอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคซีสต์ไฟโบรซิส โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน อีกด้วย
-------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Safe and effective in vivo delivery of DNA and RNA using proteolipid vehicles, https://www.cell.com/cell/fulltext/S0092-8674(24)00783-9
Drug delivery system overcomes circulatory roadblock that prevents gene therapies from reaching their targets, https://phys.org/news/2024-10-drug-delivery-circulatory-roadblock-gene.html
Comments