top of page

อว. เปิดการประชุมนานาชาติสมาคมโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก IPPA ครั้ง ที่ 22




ไทยเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติสมาคมโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ 22 เปิดเวทีให้นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี 850 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลกแลกเปลี่ยน ชี้ไทยเป็นประเทศชั้นนำของเอเชียในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี เชื่อมโยง 2 ศาสตร์ วิทย์ - สังคม สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พร้อมทำ soft power นำร่องพัฒนาเครื่องตรวจวัดอายุวัตถุโบราณ การค้นหาต้นกำเนิดมนุษย์และการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน


เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติสมาคมโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ 22 (The 22nd Congress of the Indo-Pacific Prehistory Association : IPPA) โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี 850 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ที่ จ.เชียงใหม่

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวไปไกลจนกลายเป็นประเทศชั้นนำของเอเชียในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะมีจุดแข็งทั้งมรดกทางวัฒนธรรม คนที่มีความรู้ความสามารถ และพันธมิตรจากนานาประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลก ขณะที่การรวมตัวครั้งใหญ่ของนักวิชาการมากกว่า 850 คนทั่วโลกครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีโอกาสในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านโบราณคดี การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และการศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ การศึกษาด้านโบราณคดีจะนำเราไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดบางอย่าง เราก่อร่างสร้างอดีตและปัจจุบันเพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคต พลังของโบราณคดีในการตีความการเกิดขึ้น ความต่อเนื่อง การล่มสลาย หรือการอยู่รอดของชุมชนหรือประเทศต่างๆ จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการวางแผนการพัฒนา นอกจากนี้ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมยังสามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าบรรพบุรุษของเราตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาพบเจออยู่เสมอมาได้อย่างไร


รมว.อว. กล่าวต่อว่า อว. จัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา และวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชวิทย์ ขึ้น โดยหนึ่งในภารกิจของ ธัชชา คือการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่สำคัญต่อประเทศ และเปลี่ยนความรู้ให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน ธัชวิทย์ จะเป็นเวทีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า ทั้งธัชชาและธัชวิทย์ จะเชื่อมโยงและประสานความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ และแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมถึงวิชาการ ชุมชนท้องถิ่น ผู้ให้ทุน อุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชนทั่วไป ซึ่งธัชชาและธัชวิทย์ จะทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาและการวิจัยมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นทั้งในประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อว. เชื่อมโยงช่องว่างระหว่างสองศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และขับเคลื่อนไปพร้อมกันบนพื้นฐานของการเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ผ่านธัชชาและธัชวิทย์ สร้างคุณค่าและรายได้ของประเทศจากโบราณคดี ประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยนำร่องการเตรียมระบบการหาค่าอายุวัตถุโบราณอย่างละเอียด ศึกษาดีเอ็นเอโบราณ และ LiDAR ของภูมิภาค เพื่อค้นหาคำตอบข้อสงสัยทางประวัติศาสตร์

“หนึ่งในโครงการสำคัญคือการพัฒนาเครื่องตรวจวัดอายุวัตถุโบราณ ด้วยการวัดปริมาณรังสีคาร์บอนและเครื่องเร่งอนุภาคมวลสาร ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้นักโบราณคดีทราบระยะเวลาของโบราณวัตถุได้อย่างแม่นยำ สามารถระบุยุคสมัยของโบราณวัตถุได้ นอกจากนั้น ยังมีโครงการวิจัยทางโบราณคดีที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ม.มหิดล และ ม.นเรศวร เพื่อค้นหาการกำเนิดมนุษย์และการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน รวมถึงยังมีการศึกษา ค้นหา ทำความเข้าใจดีเอ็นเอของมนุษย์และสัตว์ในสมัยโบราณ ซึ่งจะเป็นการตอบคำถามถึงที่มาของตัวเราเองได้ การค้นคว้าในเรื่องของโบรารณคดีจึงไม่ใช่เรื่องของอดีต แต่จะเป็นบทเรียนที่มีค่าต่อการตัดสินใจของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โบราณคดียังสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ และเป็น soft power สร้างความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งและการรู้ถึงรากเหง้าและมรดกของชาติ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการตีความและปกป้องอดีตของเราได้” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว










เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม




Opmerkingen


bottom of page