top of page

โลกรวน ศัพท์ใหม่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)


ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ “ภาวะโลกร้อน” ไปในแนวทางที่ไม่ชัดเจนนัก โดยที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกันกับคำว่า "สภาพอากาศ" และ "ภูมิอากาศ" ที่บางครั้งก็มีความสับสนและถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง แม้ว่าคำพวกนี้อ้างถึงเหตุการณ์ที่มีมาตราส่วนเชิงพื้นที่และเวลาที่ต่างกันสิ้นเชิง จนบางครั้ง เมื่อมีหิมะ ลูกเห็บตก ก็มีการบ่นบอกว่า “ไหนว่า โลกร้อนไง ก็เห็นหนาวจะตาย” ดังนั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันว่าแต่ละคำนั้น มีความหมายว่าอย่างไร


สภาพภูมิอากาศ (Climate) หมายถึงรูปแบบอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยในระดับภูมิภาคหรือทั่วโลกในระยะยาวตลอดฤดูกาล ปีหรือหลายทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงระยะยาวของรูปแบบสภาพอากาศในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งคงอยู่เป็นเวลานับทศวรรษหรือยาวนานกว่านั้น โดยอาจมีสาเหตุหลายประการสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเกิดจาก ภาวะโลกร้อน (Global Warming) จากการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ ต้องมองในภาพใหญ่ เช่น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การแผ่ขยายของสภาพทะเลทราย ฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้น รวมไปทั้ง ความถี่ของสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงที่มีมากขึ้น เช่น พายุ เป็นต้น


ในช่วงระยะหลังนี้ เพื่อไม่ให้คนไทยมีความงง และเหนื่อยกับการใช้คำยาวๆ จึงมีคนบัญญัตฺศัพท์ไทยๆ ใหม่ๆ ให้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “โลกรวน” ดังนั้น อธิบายง่ายๆ ภาวะโลกร้อน เป็นเหตุปัจจัย ที่ก่อให้เกิด ปรากฏการณ์ในชุดโลกรวน และคำว่า โลกรวน ก็ไม่ได้เป็นเรื่องของอากาศธาตุหรือลมแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับมหาภูตรูป ทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ตามหลักพระอภิธรรมในพระพุทธศาสนา ดังนั้น หากท่านรู้สึกว่าอากาศร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำท่วมน้ำแล้งบ่อย ที่ดินชายฝั่งถูกกัดเซาะ ไฟป่าเกิดบ่อย นั่นแหละ คือหนึ่งในโครงการน้อยใหญ่ของปรากฏการณ์ โลกรวน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: เรารู้ได้อย่างไร?

ในภาพรวม การสังเกตการณ์โดยตรงบนและเหนือพื้นผิวโลกแสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก กิจกรรมของมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดประวัติศาสตร์ ในช่วง 650,000 ปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งเกิดขึ้นเจ็ดรอบ โดยที่ยุคน้ำแข็งสุดท้ายสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันเมื่อประมาณ 11,700 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคภูมิอากาศสมัยใหม่ และอารยธรรมมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เกิดจากการแปรปรวนเพียงเล็กน้อยในวงโคจรของโลกที่เปลี่ยนปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่โลกของเราได้รับ


ดาวเทียมที่โคจรรอบโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถมองเห็นภาพรวม รวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆ มากมายเกี่ยวกับโลกของเราและสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ข้อมูลชุดนี้ซึ่งรวบรวมมาหลายปีเผยให้เห็นสัญญาณของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง


สัญญาณของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

อุณหภูมิโลกสูงขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 2.12 องศาฟาเรนไฮต์ (1.18 องศาเซลเซียส) ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศและกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ภาวะโลกร้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยเจ็ดปีล่าสุดนั้นเป็นปีที่ร้อนที่สุดและ ปี 2016 และ 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์


น้ำทะเลอุ่นขึ้น มหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินเกือบ 90% จากอากาศโดยรอบ ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น แม้ว่าความร้อนส่วนใหญ่จะถูกดูดซับในพื้นผิว แต่เนื่องจากอัตราการให้ความร้อนเพิ่มขึ้น ความร้อนจึงเข้าถึงน้ำทะเลในระดับลึกได้ นอกจากนี้มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นอาจนำไปสู่การเกิดพายุที่รุนแรงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแนวปะการัง การเจริญเติบโตของพืชทะเล และกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ทะเล


การเปลี่ยนแปลงของหิมะ น้ำแข็ง และธารน้ำแข็ง พื้นผิวน้ำแข็งในเขตกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกา มีมวลลดลง ข้อมูลจากการกู้คืนแรงโน้มถ่วงและการทดลองสภาพภูมิอากาศของ NASA แสดงให้เห็นว่ากรีนแลนด์สูญเสียน้ำแข็งโดยเฉลี่ย 279 พันล้านตันต่อปีระหว่างปี 1993 ถึง 2019 ในขณะที่แอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งประมาณ 148 พันล้านตันต่อปี ธารน้ำแข็งกำลังถอยห่างไกลออกไปทุกที เกือบทุกที่ทั่วโลก — รวมทั้งในเทือกเขาแอลป์, เทือกเขาหิมาลัย, เทือกเขาแอนดีส, เทือกเขาร็อกกี้, อะแลสกา และแอฟริกา (ส่วนเทือกเขาผีปันน้ำ ไม่มีมานานมากแล้ว)


ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมีสาเหตุหลักมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง และการขยายตัวของน้ำทะเลเมื่ออุ่นขึ้น ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 8 นิ้ว (20 เซนติเมตร) ในศตวรรษที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมีผลกระทบในทางลบต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยและการเพิ่มขึ้นของพายุ


 

สาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

กิจกรรมของมนุษย์ (โดยพื้นฐานแล้วคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือผลิตภัณฑ์พวกปิโตรเลียม) ได้เพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกโดยพื้นฐาน ซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น แรงขับเคลื่อนตามธรรมชาติโดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์จะผลักดันโลกของเราไปสู่ช่วงเวลาที่เย็นลง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแนวโน้มภาวะโลกร้อนที่สังเกตได้ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 มาจากการขยายตัวของ "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อชั้นบรรยากาศดักจับความร้อนที่แผ่ออกมาจากโลกสู่อวกาศ ความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดวงอาทิตย์เปล่งรังสีดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นรังสีคลื่นสั้น เช่น รังสีอัลตร้าไวโอเลตและแสงสว่าง พื้นผิวโลกดูดซับรังสีดวงอาทิตย์บางส่วนและสะท้อนส่วนที่เหลือเป็นรังสีคลื่นยาว รังสีสะท้อนบางส่วนหลุดออกจากพื้นผิวโลก และมีบางส่วนถูกดูดซับไว้โดยก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ก๊าซเหล่านี้ทำหน้าที่คล้ายกับเรือนกระจกและด้วยเหตุนี้จะเรียกว่าก๊าซเรือนกระจก


ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่วนก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ได้แก่ มีเทน (CH4 ) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และซัลเฟอร์์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ซึ่งผลกระทบของก๊าซเหล่านี้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซและศักยภาพในการทำให้โลกร้อน ซึ่งความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นสูงกว่าก๊าซชนิดอื่นๆ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น


อันที่จริงภาวะก๊าซเรือนกระจกเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลก

(ไม่ให้หนาวเย็นจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้) แต่ถ้าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมีมากเกินไป ความร้อนก็จะยิ่งสะสมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด ซึ่งผลที่ตามมาของภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนสิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงเป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อม และเสี่ยงต่อการอยู่รอดของพืช สัตว์และแม้แต่มนุษย์เอง


การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุณหภูมิผิดปกติที่สังเกตได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเริ่มสูงขึ้น การที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการพลังงานมากขึ้น จึงต้องเร่งผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ (ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก) ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.1°C ระหว่างปี 1850-2017 การปล่อยมลพิษเหล่านี้สูงกว่าปริมาณที่วัฏจักรคาร์บอนตามธรรมชาติของโลกสามารถดักจับได้ แหล่งที่มาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เกษตรกรรม และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน



 

สภาพอากาศสุดขั้วกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นอกจากวิกฤต "โควิด-19" ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว ในปีที่ผ่านมาโลกเราต้องเผชิญภัยธรรมชาติหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่สะสมมานานหลายสิบปี และในอนาคต ปัญหาเหล่านี้อาจรุนแรงเกินกว่าจะจินตนาการได้ ด้วยภัยธรรมชาติคือสิ่งที่เกิดเป็นประจำอยู่ทุกปีแต่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานับว่าปีนี้เป็นความรุนแรงคนละระดับ สังเกตได้จากผลกระทบและความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ตั้งแต่



คลื่นความร้อน


หนึ่งในปัญหาที่หนักหนาขึ้นทุกปี ความแปรปรวนทางสภาพอากาศยิ่งร้ายแรงส่งผลให้คลื่นความร้อนทวีความรุนแรง นอกจากตรงเข้ารบกวนการใช้ชีวิตรวมถึงสุขภาพเราโดยตรง ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและเป็นต้นเหตุของภัยธรรมชาติอื่นตามมา คลื่นความร้อนในปีที่ผ่านมาทำให้อุณหภูมิในอุทยานแห่งชาติ เดธ วัลเลย์ ในสหรัฐฯ พุ่งไปถึง 54.4 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับกรีซที่อุณหภูมิพุ่งไปถึง 47.1 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่รัสเซียที่เป็นเมืองหนาวยังอุณหภูมิสูงถึง 34.1 องศาเซลเซียส เรียกว่าหลายประเทศเข้าสู่เขตร้อนกันทั่วหน้า ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความแปรปรวนทางสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบร้ายแรงตามมา

ไฟป่า เมื่ออุณหภูมิจากอากาศตามธรรมชาติมีอุณหภูมิสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการเกิดเพลิงไหม้ได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟป่า สภาพอากาศร้อนอบอ้าวแห้งแล้งขาดความชุ่มชื้นตามธรรมชาติโอกาสเกิดจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ และเมื่อเกิดไฟป่าขึ้นครั้งหนึ่ง อุณหภูมิที่สูงจากเปลวเพลิงยังเพิ่มโอกาสให้ปัญหาลุกลามขยายวงกว้างขึ้นอีก เหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาคือ ไฟป่าในรัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา หลังการมาถึงของคลื่นความร้อนทำให้เกิดการลุกไหม้ นำไปสู่ผู้เสียชีวิตกว่า 719 คน ไฟป่าในทวีปยุโรปที่เริ่มจากตุรกี ลุกลามไปยังกรีซ แอลจีเรีย สเปน จนถึงอิตาลี หรือเหตุการณ์ไฟป่าในไซบีเรียที่กินพื้นที่ไปกว่า 6,437 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ คลื่นร้อนรุนแรงทำสถิติในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ใน 2 รัฐ คือแคลิฟอร์เนียและออริกอน เผาผลาญอาคารบ้านเรือนประชาชน และถือเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้งสองรัฐ


น้ำท่วม ภัยพิบัตินี้เป็นผลกระทบจากการขยายตัวคลื่นความร้อน เมื่อพื้นที่หนาวเย็นอย่างไซบีเรียหรือแคนาดาเกิดร้อนอบอ้าว ไอน้ำและมวลอากาศเย็นจึงถูกพัดพาไปที่อื่น เป็นผลให้มีโอกาสที่เมื่อถึงฤดูมรสุมจะเกิดฝนตกน้ำท่วมรุนแรง ด้วยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมในหลายพื้นที่




นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน กับน้ำท่วมจากฝนตกครั้งใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 302 คน ส่งผลกระทบต่อผู้คนอีก 13 ล้านชีวิต ด้วยมวลน้ำจากการตกเพียง 3 วันที่มากเท่าฝนตกตลอดทั้งปี หรือน้ำท่วมใหญ่ในทวีปยุโรปที่กินพื้นที่ทั้งในฝั่งเบลเยียม เยอรมนี รวมถึงอิตาลี นับเป็นภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว


ภัยแล้ง อีกหนึ่งภัยพิบัติที่ตามมาจากความแปรปรวนทางสภาพอากาศ เมื่อเกิดอุณหภูมิสูงทำให้ความร้อนสะสม พัดพาเอาน้ำหายไปไม่ตกกลับลงมาเป็นฝน ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำจนประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่วนนี้ส่งผลต่อทั้งการอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร หรือแม้แต่การผลิตสินค้า


พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในปีนี้คือแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา ที่เข้าจุดวิกฤติจนทำให้เขื่อนสำรองน้ำใกล้แห้งขอด ส่งผลกระทบไปถึงการผลิตไฟฟ้า แม่น้ำปารานาที่เป็นแม่น้ำสายหลักยังลดระดับต่ำสุดในรอบ 77 ปี ส่งผลต่อเส้นทางคมนาคมรวมถึงการขนส่งสินค้าอย่างร้ายแรง


เกือบทุกรัฐทางตะวันตกของสหรัฐฯ เผชิญภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เกษตรกรต้องทิ้งผลผลิต เจ้าหน้าที่รัฐต้องประกาศมาตรการฉุกเฉิน และอ่างเก็บน้ำ ฮูเวอร์แดม ก็แห้งขอดเหลือปริมาณน้ำน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์


เฮอริเคน เฮอริเคน “ไอดา” ซึ่งพัดถล่มรัฐลุยเซียนา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 (ตรงกับวันครบรอบ 16 เหตุหายนะจากฤทธ์ของพายุเฮอริเคน (“แคทรินา”) เป็นเฮอริเคนระดับ 4 มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 100 คนในสหรัฐฯ และสร้างความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท จากข้อมูลของศูนย์ข้อมุลด้านสิ่งแวดล้อม สังกัดองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือเอ็นโอเอเอ (NOAA) ขณะที่เศษเสี้ยวของเฮอริเคนไอดา เคลื่อนตัวอยู่ในแผ่นดินใหญ่ ก็ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันทั่วพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประชากรหนาแน่น เพิ่มตัวเลขผู้เสียชีวิตจากพายุมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เฮอริเคนเพิ่มกำลังแรงขึ้น


ทั้งหมดคือภัยธรรมชาติและวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในรอบปีที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์ตามปกติมักมีการกระจายข่าวกว้างขวางเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือ แต่ทุกอย่างต้องสะดุดเมื่อทุกประเทศต่างผจญวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศที่ประสบภัยพิบัติไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนมากนัก ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก



ที่มา:




Comentários


bottom of page