top of page

UCLA ปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะมนุษย์สำเร็จครั้งแรกของโลก

  • Writer: OST Washingtondc
    OST Washingtondc
  • May 23
  • 1 min read

ศัลยแพทย์จาก The University of California, Los Angeles (UCLA) Health ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยที่ประสบภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติและเจ็บปวดเรื้อรัง


ระหว่างขั้นตอนการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน 8 ชั่วโมง ศัลยแพทย์ได้ทำการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะและไตให้กับผู้ป่วย

จากนั้นจึงเชื่อมต่ออวัยวะทั้งสองเข้าด้วยกัน Credit: Nick Carranza/UCLA Health


การผ่าตัดประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2025 ณ ศูนย์การแพทย์ Ronald Reagan UCLA Medical Center โดยมี ดร. Nima Nassiri ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะจาก UCLA เป็นหัวหน้าทีม ร่วมกับ ดร. Inderbir Gill ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง USC Institute of Urology ซึ่งทั้งสองได้ร่วมมือกันพัฒนาเทคนิคการปลูกถ่ายนี้มาเป็นเวลาหลายปี ดร. Nassiri ผู้อำนวยการโครงการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะแบบ Vascularized Composite Bladder Allograft Transplant Program และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะและการปลูกถ่ายไตแห่ง UCLA กล่าวว่า “การปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะครั้งแรกนี้ต้องอาศัยการเตรียมการอย่างละเอียดเป็นเวลากว่าสี่ปี นี่คือทางเลือกใหม่ที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วย”


ขั้นตอนการผ่าตัดและผู้ป่วยรายแรก

ผู้รับการปลูกถ่ายคือนาย Oscar Larrainzar อายุ 41 ปี ซึ่งสูญเสียกระเพาะปัสสาวะเกือบทั้งหมดจากการผ่าตัดมะเร็ง เหลือเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถใช้งานได้ อีกทั้งยังต้องตัดไตทั้งสองข้างเนื่องจากภาวะไตวายระยะสุดท้ายและโรคมะเร็ง ทำให้ต้องฟอกไตมาเป็นเวลากว่า 7 ปี การผ่าตัดที่ซับซ้อนนี้ประกอบด้วยการปลูกถ่ายทั้งกระเพาะปัสสาวะและไตใหม่จากผู้บริจาค โดยเริ่มจากการปลูกถ่ายไต ตามด้วยกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นจึงเชื่อมต่อไตใหม่เข้ากับกระเพาะปัสสาวะที่ปลูกถ่ายด้วยเทคนิคที่ทีมแพทย์พัฒนาขึ้น ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง และให้ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดทันที ดร. Nassiri กล่าวว่า “ไตใหม่สามารถผลิตปัสสาวะในปริมาณมากได้ทันทีหลังผ่าตัด และการทำงานของไตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องฟอกไตอีกต่อไป และปัสสาวะสามารถไหลเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะใหม่ได้”


นาย Oscar Larrainzar ผู้รับการปลูกถ่ายไต ซึ่งกระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานและต้องตัดไตออกทั้งสองข้างก่อนหน้านี้ กำลังพักอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลที่ UCLA ก่อนเข้ารับการผ่าตัด Credit: Nick Carranza/UCLA Health


ดร. Nima Nassiri ผู้อำนวยการโครงการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (ซ้าย) กับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย นาย Oscar Larrainzar ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะที่ประสบความสำเร็จ Credit: Cesar Sarmiento/UCLA Health


ความท้าทายและอนาคตของการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะ

แม้ว่าผลลัพธ์เบื้องต้นจะเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ยังมีคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบ เช่น การทำงานของกระเพาะปัสสาวะที่ปลูกถ่ายในระยะยาวจะเป็นอย่างไร และจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันในระดับใดเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ


ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะมาก่อน เนื่องจากความซับซ้อนของโครงสร้างหลอดเลือดในอุ้งเชิงกราน และความยากของการผ่าตัด ในทางการแพทย์มักเลือกใช้การสร้างกระเพาะปัสสาวะใหม่จากลำไส้ของผู้ป่วย แม้จะได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เลือดออกภายใน และปัญหาทางเดินอาหาร ดร. Nassiri กล่าวว่า “การปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะจากผู้บริจาคแทนการใช้ลำไส้ของผู้ป่วยเอง อาจให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับการทำงานของกระเพาะปัสสาวะปกติมากกว่า และลดภาวะแทรกซ้อนที่เคยเกิดขึ้น” การผ่าตัดในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองทางคลินิกที่ออกแบบโดย ดร. Nassiri และ ดร. Gill โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะให้สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้


ที่มา: World’s first human bladder transplant performed at UCLA, https://newsroom.ucla.edu/releases/worlds-first-human-bladder-transplant-performed-at-ucla?



Comments


สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

Office of Higher Education, Science, Research and Innovation
Royal Thai Embassy, Washington D.C.

2025 All Rights Reserved
+1 (202) 944-5200
ost@thaiembdc.org
facebook.com/ohesdc

 
1024 Wisconsin Ave. NW Suite 104,
Washington D.C 20007
bottom of page