การสำรวจดวงจันทร์เป็นจินตนาการที่คนเราฝันถึงมาเป็นระยะเวลานาน หลังจากที่องค์การนาซ่าประสบความสำเร็จในการส่งยาน Apollo 11 ไปยังดวงจันทร์ ในปี ค.ศ.1969 ที่เป็นก้าวแรกของมนุษยชาติที่ได้ การเหยียบพื้นผิวของดวงจันทร์ และเป็นก้าวสำคัญที่การสำรวจดวงจันทร์ได้เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันการสำรวจดวงจันทร์ ความคิดได้ขยายไปไกลถึงการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้นักบินอวกาศสามารถปฏิบัติภารกิจได้บนดวงจันทร์ รวมถึงเป็นฐานที่ตั้งเพื่อการเดินทางต่อไปยังดาวอังคาร
การสำรวจดวงจันทร์ได้กลายเป็นภารกิจสำคัญของการศึกษาด้านอวกาศที่นานาประเทศให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างมีการศึกษาและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ดวงจันทร์ได้กลายเป็นที่นิยมในระดับสากล จึงเกิดคำถามที่นักมาตรวิทยาทั่วโลกกำลังพยายามหาคำตอบ คือ เวลาบนดวงจันทร์/การกำหนดเขตเวลามาตรฐานของดวงจันทร์ เพื่อช่วยให้การวางแผนภารกิจ การสื่อสาร และการนำทางที่แม่นยำและง่ายขึ้น
ในปัจจุบัน แต่ละภารกิจของการสำรวจดวงจันทร์นั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรเวลาของตัวเอง ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาบนโลก โดยจะต้องใช้เสาอากาศในห้วงอวกาศที่ใช้สำหรับการสื่อสารสองทาง เพื่อให้เครื่องบอกเวลาบนเครื่องบินซิงโครไนซ์กับเวลาภาคพื้นดิน/เวลาบนโลก อย่างไรก็ตาม การกำหนดเขตเวลาบนดวงจันทร์ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากนาฬิกาบนดวงจันทร์เดินเร็วกว่านาฬิกาบนโลก โลกเรามีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ จึงมีสนามโน้มถ่วงที่แรงกว่าและทำให้เวลาเคลื่อนที่ช้าลง นอกจากนี้ เวลาบนดวงจันทร์เดินเร็วขึ้นประมาณ 56 ไมโครวินาทีหรือหนึ่งในล้านของวินาที ต่อระยะเวลา 24 ชั่วโมง อัตรานี้จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของนาฬิกาบนดวงจันทร์ด้วย เช่น นาฬิกาที่อยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์เดินช้ากว่านาฬิกาที่อยู่บนพื้นผิว เป็นต้น
ถึงอย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าเขตเวลามาตรฐานจะใช้เป็นรูปแบบใด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ยังคงต้องหาข้อสรุปในการกำหนดให้องค์กรใดรับผิดชอบในการรักษาเวลา ควรตั้งเวลาบนดวงจันทร์ให้เป็นอิสระหรือให้สอดคล้องกับโลก ในอนาคต โซนเวลาที่ละเอียดมากขึ้นบนดวงจันทร์อาจเป็นที่ต้องการ
Comentários