top of page

นวัตกรรมการพัฒนาโฟมชีวภาพ


โฟมพลาสติกมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะโฟมโพลียูรีเทน (polyurethane foam) ได้ถูกนำมาใช้งานเอกประสงค์ ทั้งใช้เป็นฉนวน เบาะรถยนต์ และวัสดุกันกระแทก แต่ทั้งนี้ โฟมโพลียูรีเทนเป็นวัสดุที่มีความทนทาน ซึ่งจะคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมไปนานหลายชั่วอายุคน ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของมนุษย์ อีกทั้ง พลาสติกส่วนใหญ่ทำมาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวแปรสำคัญก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย


โฟมโพลียูรีเทนเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีสองชนิดหลัก ได้แก่ โพลิออล (polyols) และไอโซไซยาเนต (isocyanates) โดยที่ผ่านมา มีการศึกษาเพื่อหาส่วนประกอบอื่นมาใช้ทดแทนสารโพลิออล แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของไอโซไซยาเนต ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายต่อมนุษย์ ยังคงมีอยู่ในโฟมโพลียูรีเทนเป็นส่วนใหญ่ นักวิจัยจาก Clemson University รัฐเซาท์แคโรไลนา ค้นพบนวัตกรรมโฟมชีวภาพ ที่เป็นการใช้สารประกอบที่ได้จากพืชนำมาใช้แทนโฟมโพลียูรีเทน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโฟมชีวภาพนี้ ใช้ลิกนิน (lignin) ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืชที่ได้จากอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ และตัวเร่งแข็งที่ได้จากน้ำมันพืช (vegetable oil-based curing agent) นอกจากนี้ โฟมชีวภาพนี้ ยังสามารถรีไซเคิลได้ ส่วนประกอบหลักที่ใช้ในการผลิตโฟมสามารถสกัดและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ฝังกลบ และขยะหรือสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าขยะโดยนำกลับไปผลิตแบบหมุนเวียน ผลจากการศึกษาพบว่า โฟมชีวภาพรุ่นแรกที่ผลิตออกมานั้นมีความทนทานในสภาพเปียกชื้นได้ดี ซึ่งสามารถใช้ในการก่อสร้างหรือใช้เป็นฉนวนในตู้เย็น รวมทั้งได้มีการพัฒนาโฟมชีวภาพที่มีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นที่สามารถใช้สำหรับการกันกระแทกและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาโฟมชีวภาพนี้ นักวิจัยหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในเชิงพาณิชย์ และสร้างแรงบันดาลใจให้บริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ในการพัฒนาพลาสติกโดยคำนึงให้ครอบคลุมทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (full life) ให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน และหลีกเลี่ยงปลายทางสุดท้ายที่จะกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม



 

Σχόλια


bottom of page