top of page

การประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ 9 กันยายน 2566 ณ นครเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด


ผู้เข้าร่วมงานประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ ราว 40 คน

การประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2566 ซึ่งกระทรวง อว. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 นับเป็นกิจกรรมสำคัญเนื่องในโอกาสวาระครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯ และครบรอบ 10 ปีที่ไทยและสหรัฐฯ ได้มีการลงนามในความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า STA เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ความตกลงนี้ได้กำหนดกรอบและแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ ภายใต้ความตกลงนี้ ทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee Meeting on Science and Technology – JCM) เพื่อหารือผลักดันความร่วมมือ


การจัดการประชุมครั้งที่ 3 ก็สำเร็จลุล่วงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1. Health and Medicine, Including OneHealth – แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกันในด้าน genome sequencing การควบคุมโรค และสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อส่งเสริมสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม 2. STEM, Entrepreneurship, and Innovation Ecosystem – ผลักดันความร่วมมือด้านการออกแบบหลักสูตรด้าน STEM อาทิ AI Engineering ในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกัน กลุ่ม 3. Biodiversity, Water, Agriculture and Climate Change Adaptation – สร้างแพลตฟอร์มสำหรับประเด็นที่มีความคาบเกี่ยว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตร การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่ม 4. Energy and Climate Change Mitigation – ชูประเด็นเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน พลังงานชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเชื่อมโยงสถาบันวิจัยระหว่างสองประเทศเพื่อมุ่งสู่ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์


สำนักงานที่ปรึกษา อว. กรุงวอชิงตัน ภายใต้ทีมประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูต ได้ร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) ทำหน้าที่เป็นโต้โผจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อระดมกำลังบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ววน. ของไทย ให้รับทราบถึงผลลัพธ์ของการประชุม Joint-Committee Meeting ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 ที่เพิ่งสำเร็จไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 และให้มีบทบาทที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน



ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานการประชุม พร้อมเป็นองค์ปาฐกแนวทางพัฒนาความร่วมมือ อววน. ไทย-สหรัฐฯ

ท่านเอกอัครราชทูตหารือกับตัวแทนสมาคมนวดไทยฯ และผู้เข้าร่วมงานประชุมฯ แนวทางการพัฒนาศักยภาพเพื่อผ่านมาตรฐานการสอบ MBLEX (Massage & Bodywork Licensing Examination)

โดยดำริของท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน การประชุมในปีนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นการรวมพลังของกลุ่มสมาคมคนไทย นักวิชาชีพในหลากสาขาอาชีพ ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวง อว. หลังจากการปรับโครงสร้างจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งสนับสนุนนักวิชาชีพหลากสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ สายศิลปศาสตร์ซึ่งเป็นสายที่สร้างพลัง soft power ให้กับประเทศ ด้วยเหตุนี้ การประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ ประจำปี 2566 (Thai Professionals Conference 2023) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 ณ โรงแรม Denver Marriott Tech Center นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ของไทย และผู้แทนจากหน่วยงานทีมประเทศไทย ผู้แทนจากสมาคมนักวิชาชีพต่างๆ ในสหรัฐฯ

จึงมีความพิเศษ และมีการเข้าร่วมของผู้แทนสมาคม และผู้แทนหน่วยงานที่หลากหลาย ราว 40 คน ในส่วนของสมาคม ได้แก่ สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) สมาคมแพทย์ในสหรัฐฯ (Thai Physicians Association of America: TPAA ) องค์กรสามัคคีไทยอเมริกัน (Thai American Samakkee Coalition: Samakkee) สมาคมนวดและสปาแห่งสหรัฐฯ (Nuad Thai and Spa Association of America: NTSAA) สมาคมทนายความไทยอเมริกัน (Thai American Bar Association: TABA) และสุดท้าย สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ (Association of Thai Students in USA: ATSA) สมาคมน้องใหม่ที่เป็นที่รวมของคนรุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความมุ่งมั่นจะมาช่วยพัฒนาประเทศไทยเรา


ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา ประธานสมาคม ATPAC เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาคอขวดในการยื่นข้อเสนอโครงการและรออนุมัติ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ของกระทรวง อว. และหารือกับที่ประชุมเกี่ยวกับข้อเสนอโครงการจากรัฐบาลสหรัฐฯ

โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ให้เกียรติมาเป็นประธานและองค์ปาฐก พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดที่มีบทบาทสำคัญในเวที JCM อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยงานจัดสรรทุน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยงาน อว. ที่สนับสนุนด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ อย่าง วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ที่จะมีบทบาทดูแลสนับสนุน Soft Power


ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) NSM บรรยายในหัวข้อ “Museum and STEM Career for the Future”

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายถึง BCG Economy Model กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

โดยในช่วงเช้าของการประชุม เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลขององค์กรและสมาคมต่างๆ เช่น บทบาทและหน้าที่ ขอบเขตความสามารถในการทำประโยชน์เพื่อประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ และความคาดหวังจากการประชุมในครั้งนี้ การประชุมในช่วงบ่ายเป็นการประชุม working group กลุ่มย่อยที่มีการแบ่งกลุ่มตามความเชี่ยวชาญและบทบาทหน้าที่ ผู้เข้าประชุมร่วมกันระดมความคิดหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานไทยและสหรัฐ


ศ.ดร.สิริวัชร์ ฉิมพาลี ตัวแทนจากสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ (ATPAC) ขึ้นกล่าวแนะนำสมาคมพร้อมข้อเสนอกิจกรรมบูรณาการ

จากผลการประชุม สมาคมต่างๆ ได้มีการแนะนำตัวเองและเชื่อมโยงแนวทางการทำงานระหว่างกัน โดยผลลัพธ์ที่สำคัญประกอบด้วย

  • สมาคม ATPAC เสนอที่จะสร้างความร่วมมือในโครงการจัดตั้ง Consortium เรื่อง Carbon Capture Utilization and Storage และ Green Hydrogen, การเก็บกักพลังงาน (Energy Storage) ของประเทศ โครงการศึกษามลพิษในน้ำบาดาลและการตกค้างของสาร PFAS บนน้ำผิวดิน ตลอดจนการน้ำเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์

  • สมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐฯ สนใจที่จะไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการรักษาตลอดจนการให้ทุนแพทย์ที่ประเทศไทยมาศึกษาอบรมในสหรัฐฯ โดยผ่านมูลนิธิ King of Thailand Birthplace Foundation

  • สมาคมทนายความ พร้อมให้คำปรึกษาและเตรียมเอกสารยื่นจดสิทธิบัตร (Patent) และทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

  • องค์กรสามัคคีไทยอเมริกัน พร้อมสร้างเครือข่ายที่จะช่วยเหลือคนไทยในหลากสาขาและเข้าถึงตัว รวมทั้งสนับสนุนมิติของกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ สำหรับธุรกิจที่มีนวัตกรรม/วิทยาศาสตร์

  • สมาคมนวดและสปา ต้องการ Reskill/upskill แรงงานและการพัฒนาศักยภาพเพื่อผ่านมาตรฐานการสอบ MBLEX (Massage & Bodywork Licensing Examination) ซึ่งยังไม่มีข้อสอบเป็นภาษาไทย เพื่อช่วยให้คนไทยในสหรัฐฯ สามารถประกอบอาชีพหมอนวดได้ถูกต้องตามกฎหมาย

  • สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ จะต่อยอดจากความสำเร็จของงาน ATSA EXPO และการประชุมประจำปีของพวกเขา โดยในปีหน้า ATSA วางแผนที่จะดึงดูดศิษย์เก่าให้มามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสมาคมฯ มากขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างศิษย์เก่าและนักเรียนไทยในสหรัฐฯ ปัจจุบัน นอกจากนี้ จะมีการจัดงานสัมมนาออนไลน์เชิงวิชาการและเน้นสาขาวิชามากขึ้น

นายวรากร จิตรงามปลั่ง ประธานสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ (ATSA) กล่าวแนะนำสมาคมฯ และแผนงานในอนาคต

การประชุม working group กลุ่มย่อยในช่วงบ่าย โดยแยกเป็น 4 หัวข้อย่อย 1. Climate Mitigation + Energy

2. Climate Adaptation + Water & Agriculture 3. Health and Medicine 4. STEM Education + Entrepreneurship


ดังนั้น การประชุมใหญ่นักวิชาชีพประจำปีนี้จึงมีความพิเศษ เพื่อให้นักวิชาชีพและนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริการับทราบผลลัพธ์ของการประชุม JCM ไทย-สหรัฐฯ ที่เพิ่งสำเร็จไป และโอกาสที่จะมีส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือต่างๆ โดยหาแนวทางการพัฒนาเครือข่ายร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการของไทย นักวิชาชีพไทย และนักเรียนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในสหรัฐฯ ให้มีส่วนสนับสนุนโครงการและกิจกรรมที่จะมีขึ้นจากโครงการความร่วมมือกับสหรัฐฯ และให้ประโยชน์กับการพัฒนาของประเทศของไทย และหารือแนวทางในการจัดตั้งสถาบันหรือกลไกกลาง สำหรับเป็นแหล่งรวมพล แบ่งปันข่าวสาร และเป็นที่อำนวยการในการการเสนอผลงานในการจัดการประชุมด้านเทคนิคประจำปี


ปอว. พูดคุยกับทนายแทมมี่ สุมณฑา ประธานสมาคม Samakkee และตัวแทน Dr. Jack Paduntin และคุณ Ian Asvakovith

ดร.จักร ตันธนะ นักวิจัยวิศวกรรมเคมี. RTI International และนายวรากร จิตรงามปลั่ง ประธานสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ (ATSA)

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และปลัดกระทรวง อว. ได้มีโอกาสพบหารือกับผู้ว่าการรัฐโคโลราโด และนายกเทศมนตรีนครเดนเวอร์ ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนกลางประเทศ ทั้งนี้นครเดนเวอร์ถือเป็นเมืองหลักที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ ด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ธุรกิจสตาร์ทอัพ และการทำเหมืองแร่ โดยมีบริษัทของคนไทยอย่าง BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บ้านปูถือหุ้นร้อยละ 96.12 จัดตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อประกอบธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งการเหมืองแร่ พลังงาน และการผลิตก๊าซธรรมชาติ


เอกอัครราชทูต พร้อมด้วยปลัดกระทรวง อว. และผู้แทนสมาคมต่างฯ เข้าร่วมหารืออภิปรายโต๊ะกลม (Working Lunch) ณ บริษัท BKV กับบริษัท Project Canary, B. Grimm และบริษัทพลังงานสะอาด/CCUS อื่นๆ

เอกอัครราชทูต พร้อมด้วยปลัดกระทรวง อว. เข้าพบหารือกับผู้ว่าการรัฐโคโลราโด Jared Polis ณ Governor’s Office at State Capitol

เอกอัครราชทูต พร้อมด้วยปลัดกระทรวง อว. เข้าพบหารือกับนายกเทศมนตรีนครเดนเวอร์ Mike Johnston ณ Denver Mayor’s Office

การระดมพลังสมองและวิชาชีพของคนไทยในสหรัฐฯ ที่เดินมาจากทั่วสารทิศ เพื่อผนึกกำลังกับทีมข้าราชการไทยจากส่วนกลาง และทีมประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูต จึงนับเป็นโอกาสครั้งใหญ่เราจะได้เห็นการรวมพลังของคนไทยที่ช่วยคิด ช่วยทำ เพื่อนำพาความร่วมมือ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ กฎหมาย และศิลปะต่างๆ ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประเทศเรา และประชาคมโลกในภาพรวมต่อไป





bottom of page