top of page

การพัฒนาสารสกัดจากฟองน้ำทะเลป้องกัน โควิด - 19

นักวิจัยจาก University of British Columbia (UBC) ค้นพบสารประกอบจากฟองน้ำทะเลที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในเซลล์ของมนุษย์ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ



UBC และทีมนักวิจัยนานาชาติ ได้วิเคราะห์สารประกอบที่ได้มาจากความหลากหลายทางชีวภาพจากแหล่งธรรมชาติต่างๆ มากกว่า 350 ชนิด ทั้งจากพืช เชื้อรา และฟองน้ำทะเล เพื่อค้นหายาชนิดใหม่ที่สามารถต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ได้ โดยนักวิจัยนำเซลล์ปอดของมนุษย์จุ่มในสารละลายที่ทำจากสารประกอบจากแหล่งธรรมชาติ จากนั้นทำให้เซลล์ติดเชื้อด้วย SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งผลลัพธ์ของการศึกษาพบว่า มีสารประกอบ 26 ชนิดที่สามารถช่วยลดการติดเชื้อไวรัสในเซลล์ได้ โดยสารประกอบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 3 ชนิดมาจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่ประเทศแคนาดา ได้แก่ (1) ฟองน้ำทะเลที่เก็บได้จากอ่าว Howe Sound บริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของแวนคูเวอร์ (2) แบคทีเรียในทะเลที่เก็บจากอ่าว Barkley Sound บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะแวนคูเวอร์ และ (3) แบคทีเรียในทะเลที่เก็บบริเวณมณฑล Newfoundland ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ นักวิจัยใช้ในปริมาณที่น้อยมากก็สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสในเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบล็อกไวรัสจากการจำลองตัวเอง นอกจากนี้ นักวิจัยยังสามารถจำลองสารประกอบที่พบในฟองน้ำทะเลได้ ทำให้สร้างสารประกอบนี้ขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเก็บฟองน้ำทะเลจากแหล่งธรรมชาติ ทั้งนี้ ผลของการศึกษาที่ได้ เป็นการทดลองในระดับเซลล์ ซึ่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยนักวิจัยจะทำการทดสอบในสัตว์ทดลองในขั้นตอนต่อไป



 


bottom of page