top of page

การมอบรางวัล Friend of Thai Science 2022 - ศ. ดร. ลู แบร์โรว (Prof. Dr. Louis R. Barrows)



ศ. ดร. ลู แบร์โรว อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา มหาวิทยาลัยยูทาห์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการเยือนประเทศไทยของคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย (เขตร็อกกี) ในปี 2563 ของ สำนักงานฯ หลังจากการพบปะหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตภูเก็ต ศ. ดร. แบร์โรว ได้พัฒนาโครงการความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิจัยนวัตกรรมการแพทย์และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อีกทั้ง ให้การสนับสนุนนักศึกษาปริญญาเอกของไทยเดินทางเข้าฝึกอบรม ณ ภาควิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา มหาวิทยาลัยยูทาห์ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิธีมอบรางวัล FoTS ได้ มอบไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ภาควิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา มหาวิทยาลัยยูทาห์ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 12 คน ประกอบด้วยคณบดี คณาจารย์ และนักเรียนไทย ศ. ดร. แบร์โรว ซาบซึ้งและขอบคุณ

ดร. Randy Peterson คณบดีภาควิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และขอขอบคุณมายังท่าน ปอว. ที่ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้


การพบหารือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง




มหาวิทยาลัยยูทาห์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โดย U.S. News & World Report ให้อยู่ในอันดับที่ 35 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดทางด้านการวิจัยทางแพทย์ ปัจจุบันมีนักศึกษามากกว่า 34,000 คน ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา สำนักงานฯ ได้พบหารือร่วมกับคณบดีและคณาจารย์จากภาควิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการภายในภาควิชา โดยมีสาระสำคัญดังนี้


1. การหารือความร่วมมือ

สำนักงานฯ ได้หารือร่วมกับ ดร. Randy Peterson คณบดีภาควิชาเภสัชวิทยาฯ ศ. ดร. ลู แบร์โรว และคณาจารย์จากภาควิชาเภสัชวิทยาฯ เกี่ยวกับความร่วมมือที่มหาวิทยาลัยยูทาห์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการร่วมกันในปัจจุบันละแนวทางการขยายความร่วมมือในอนาคต โดยที่ผ่านมา ศ. ดร. แบร์โรว ได้สนับสนุนการเดินทางมาฝึกงานที่ภาควิชาเภสัชวิทยาฯ ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 1 คน และนักศึกษาอีก 2 คนที่กำลังจะเดินทางมาฝึกงาน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการยื่นขอวีซ่าสหรัฐฯ อีกทั้ง ศ. ดร. แบร์โรว ได้มีการหารือเพื่อขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อวัณโรคจากคลินิกต่างๆ ในไทย เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่พบไม่บ่อยในสหรัฐฯ การเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาศึกษาจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ


นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยยูทาห์ยังสามารถสามารถขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สาขาอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมสถานบริการ (Hospitality industry) พยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ และยา เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจำนวน และมหาวิทยาลัยยูทาห์เป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกหัวข้อที่สามารถสร้างความร่วมมือ และเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจนอกมหาวิทยาลัยยูทาห์ในการเข้าร่วมด้วย



2. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ

ห้องปฏิบัติการศึกษาวิจัยด้านพันธุกรรมภายใต้การดูแลของ ดร. Randy Peterson คณบดีภาคเภสัชวิทยาฯ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ใช้ปลาม้าลายในการศึกษาโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) เป็นต้น ปลาม้าลายเป็นสัตว์ที่มีพันธุกรรมหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับมนุษย์และพบว่าร้อยละ 84 ของยีนปลาม้าลายเกี่ยวข้องกับโรคที่เกิดในมนุษย์ โดยนักวิจัยมีการเลี้ยงตัวอ่อน (embryos) ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมในแผ่นเพาะเชื้อ ทำให้นักวิจัยสามารถเห็นส่วนประกอบของเซลล์ได้โดยตรง สามารถทำการทดสอบด้วยตัวยาต่างๆ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะนำไปใช้ในมนุษย์


ห้องปฏิบัติการ Anticonvulsant Drug Development Program (ADD Program) ภายใต้การดูแลของ ดร. Karen Wilcox ประธานภาคเภสัชวิทยาฯ โดยโครงการ ADD ได้รับการสนับสนุนเงินทุนระยะยาว 5 ปี จาก National Institutes of Health (NIH) ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคลมบ้าหมู และพัฒนายาใหม่ที่มีศักยภาพที่จะใช้ในมนุษย์ สามารถรักษาโรคลมบ้าหมูในระยะแรกเริ่ม และความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางอื่นๆ โดศึกษาในหนูทดลองที่มีการกระตุ้นให้เกิดการชัก และทดสอบด้วยสารประกอบตัวอย่าง เพื่อศึกษาและการประเมินฤทธิ์ต้านการชัก ความเป็นพิษต่อระบบประสาท การทำงานของตับ เป็นต้น ทั้งนี้ สารประกอบที่มีประสิทธิภาพจะถูกนำไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อระบุกลไกการออกฤทธิ์และเปรียบเทียบกับยากันชักมาตรฐานต้นแบบก่อนที่จะทดลองทางคลินิกในมนุษย์





bottom of page