top of page

การเข้าร่วมการประชุมมหกรรมการศึกษา NAFSA Conference & Expo



สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปี มหกรรมการศึกษา NAFSA Conference & Expo ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมนักการศึกษาทั่วโลกในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา (NAFSA: Association of International Educators; NAFSA) ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 - 2 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุม Walter E. Washington กรุงวอชิงตัน โดยปีนี้เป็นการครบรอบ 75 ปี ของการจัดการประชุม โดยมีหัวข้อหลักคือ “Inspiring an Inclusive Future” ซึ่งเน้นการขยายและกระจายการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้สามารถเข้าถึงประชาชนในส่วนต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การศึกษาระดับอุดมศึกษายังไม่ได้มีการให้บริการที่ทั่วถึงดีพอ (underserved)




การประชุมใหญ่ และ EXPO

ในส่วนของกิจกรรมใหญ่ มีผู้เข้าร่วมงานราวหนึ่งหมื่น และมีการออกบูธจากมหาวิทยาลัยสำคัญหลายแห่งทั่วโลก โดยภายในงานมีการยกประเด็นต่างๆ ด้านการศึกษามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เช่น การศึกษาในระดับนานาชาติ การรับสมัครนักศึกษาต่างชาติ บทบาทของรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาในการส่งเสริมความเป็นสากล รูปแบบการดำเนินงานของสถาบันในการสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติ การจัดการหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศและประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยประเทศไทยมีตัวแทนจาก 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย สำนักวิรัชกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ และ 2) มหาวิทยาลัยมหิดล ในส่วนของวิทยาลัยนานาชาติ เข้าร่วมออกบูธและจัดพบหารือกับมหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยได้เข้าสรุปผลในการประชุมร่วมปิดท้ายงาน ที่สถานเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ว่าการเข้าร่วมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และได้มีโอกาสพบปะหารือกับสถาบันการอุดมศึกษาจากประเทศอื่นจำนวนมาก ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 ซึ่งจะมีการประชุมใหญ่เมืองนิวออร์ลีน ท่านเอกอัครราชทูตจะเดินทางไปร่วมกิจกรรม และเป็นประธานในการเปิดบูธในภาพรวมสถาบันการอุดมศึกษาไทย






การจัดงาน Embassy Circle for NAFSA

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ ได้รับการประสานจากสถานทูตสหรัฐฯ ณ ประเทศไทย ให้เข้าร่วมกิจกรรม Embassy Circle at NAFSA จัดโดย U.S Commercial Service Global Education Team โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากสถานทูตจากประเทศต่างๆ (ได้รับการเชิญเข้าร่วมประมาณ 16 ประเทศ) ได้เชื่อมโยงกับ Study State Consortia ที่เป็นกลไกเชื่อมโยงระบบมหาวิทยาลัยของแต่ละรัฐ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดใหม่ๆ ในวงการการศึกษาระดับโลก และหาแนวทางทำโครงการแลกเปลี่ยนหรือความร่วมมือระหว่างกัน



Reception ของ Institute of International Education (IIE)

เมื่อวันที่ 1 มิถุยายน 2566 นายเศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ และนางสาวจุลีพจน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อัครราชทูตฯ สอท. ได้รับเชิญจาก Institute of International Education (IIE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการทำโครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมด้านการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในวงการการอุดมศึกษาระหว่างประเทศ และมีสำนักงานในประเทศไทย เข้าร่วมงาน Reception และได้เข้าพบ Dr. Allan E. Goodman ประธานของสถาบัน ทั้งนี้ IIE กำลังจัดทำโครงการ IAPP Program (International Academic Partnership Program) สำหรับประเทศไทย โดยได้มีการหารือ ณ ห้องประชุม สถานเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยทาง IIE จะเสนอ ร่างข้อเสนอโครงการมาเพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณาในโอกาสแรก ซึ่ง อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ จะนำหารือกับหน่วยงานของไทยในช่วงเดินทางไปปฏิบัติราชการในช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2566 อาทิ บพค. และมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ


การเข้าร่วม NAFSA เป็นโอกาสสำคัญของการเข้าร่วมของหน่วยงานการอุดมศึกษาไทยที่จะได้นัดหมายหารือความร่วมมือกันโดยตรงในเวทีดังกล่าว อาทิ การพัฒนาหลักสูตรร่วม การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์และนักวิจัย การทำตลาดวิชาการ พร้อมทั้งรับทราบกระแสพัฒนาการศึกษาของโลก ที่ประเทศพัฒนาแล้วมีบทบาทในการชี้นำ วิเคราะห์ และประเมินจัดอันดับ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณหน้า ในที่ประชุมสรุปผลการเข้าร่วมได้มีข้อเสนอว่า มหาวิทยาลัยของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีผู้แทนมาเข้าร่วมมากขึ้น และจองการออกบูธพร้อมกันเป็นทีมเพื่อให้ได้อยู่ร่วมกันเป็นทีมประเทศไทย เช่นเดียวกับของหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา คอสตาริกา ซึ่งเป็นการออกบูธขนาดใหญ่ในนามประเทศ และมีบูธของมหาวิทยาลัยอยู่เรียงรายภายใต้ ซึ่งสามารถดึงดูดและสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้สะดวก


bottom of page