top of page

นักบินอวกาศประสบความสำเร็จในการทดลองปลูกพริกในอวกาศ

พริกเป็นแหล่งวิตามินซีและสารอาหารสำคัญอื่นๆ รวมทั้ง ปลูกง่าย เป็นพืชเก็บกินโดยไม่ต้องผ่านการปรุงสุก มีระดับจุลินทรีย์ต่ำ จึงปลอดภัยที่จะกินดิบ โดยพริกสายพันธุ์ Hatch chile ซึ่งเป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างพริกสายพันธุ์ Hatch Sandia และพริกสายพันธุ์ Española ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเม็กซิโก ได้ผ่านการทดสอบบนโลกในสภาพแวดล้อมจำลอง และได้ทดลองปลูกจริงในห้องปฏิบัติการบนสถานีอวกาศ โดยปลูกในตู้ Advanced Plant Habitat ที่มีขนาดประมาณไมโครเวฟ ที่สามารถตรวจสอบและควบคุม เช่น การรดน้ำ การให้แสง และการเปิดพัดลมเพื่อส่งเสริมการถ่ายละอองเรณู ได้จากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา หลังจากการเพาะปลูกเป็นเวลา 4 เดือน ได้ถูกเก็บเกี่ยว ทำให้ปลอดเชื้อ และลูกเรือได้ทดลองชิมรสชาติและเนื้อสัมผัส และพริกบางส่วนจะถูกนำกลับมายังโลกเพื่อวิเคราะห์ต่อไป ในขณะที่ต้นพริกนี้ยังคงเติบโตบนสถานีอวกาศ และจะทำการเก็บเกี่ยวครั้งที่สองเมื่อนักบินอวกาศ SpaceX Crew-3 เดินทางไปถึง

ความสำเร็จจากการปลูกพืชในอวกาศนี้ มีนัยที่สำคัญสำหรับการปฏิบัติภารกิจในอวกาศระยะยาวในอนาคต เช่น การเดินทางไปยังดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร เนื่องจากโดยปกติแล้วอาหารของนักบินอวกาศจะถูกบรรจุห่อไว้ล่วงหน้าและมีการจำกัดมากขึ้นในภารกิจห้วงอวกาศที่ยาวขึ้น อีกทั้ง สูญเสียสารอาหาร เช่น วิตามินซี และวิตามินเค เมื่อเก็บอาหารนานขึ้น

นอกเหนือจากการทดลองปลูกพืชในอวกาศแล้วนั้น NASA จัดโครงการแข่งขัน Deep Space Food Challenge โดยโจทย์การแข่งขันคือ การพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ 4 คน ให้สามารถดำรงชีพในอวกาศได้นาน 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงจากโลก รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารบนโลก โดยอาหารที่ถูกผลิตขึ้นสร้างของเสียน้อยที่สุด มีความหลากหลายของเมนูอาหารใช้เวลาในการเตรียมอาหารน้อย

ทีม KEETA จากประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย นางสาวนภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอก KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน นายสิทธิพล คูเสริมมิตร นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโทชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ม.มหิดล ดร. วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็น 1 ใน 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันในรอบที่ 2 ร่วมกับทีมจากประเทศโคลอมเบีย เยอรมนี ออสเตรเลีย อิตาลี บราซิล ซาอุดีอาระเบีย ฟินแลนด์ และอินเดีย โดยทีม KEETA นำเสนอการผลิตอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้วัตถุดิบจากระบบนิเวศขนาดจิ๋ว การเลี้ยงแมลง หนอน มดและการปลูกพืช ที่พึ่งพาอาศัยกันบนอวกาศภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอย่างเป็นระบบ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของไทย ที่ผสมผสานใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดเด่นของประเทศร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาทางเทคโนโลยีทางอาหารสำหรับนักบินอวกาศ และแก้ปัญหาการการขาดแคลนอาหารบนโลกต่อไป





bottom of page