top of page

ประชุมหารือและเยี่ยมชม Amazon AWS Fulfillment Center

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ดร. เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) พร้อมด้วย นว.ชพ. สมภพ ลาภวิบูลย์สุข ผู้ได้รับทุนรัฐบาลเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การปฏิบัติงานในต่างประเทศ จาก วศ. ได้นำ ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองอธิการบดี ด้านการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะฯ เข้าพบหารือกับผู้บริหาร Amazon Web Services ที่อาคารสำนักงานของบริษัทในเมืองอาร์ลิงตันรัฐเวอร์จิเนีย


AWS เป็นบริษัทที่จะสนับสนุนนโยบายสาธารณะ (public policy) ของรัฐบาล ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 ซึ่งจะสร้างเศรษฐกิจโดยขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี ด้วยการเปิดตัว AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในประเทศไทย โดยชาวไทยได้ประโยชน์จากการใช้ AWS มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2549 ซึ่งการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2558 และเปิดสำนักงานแห่งแรกที่กรุงเทพฯ โดย AWS วางแผนการลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท (5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในประเทศไทย ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์ข้อมูล (data center) ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการบริการจากธุรกิจระดับภูมิภาค ทั้งนี้ AWS ได้นำเทคโนโลยีคลาวด์ล่าสุดที่ครอบคลุมและนำมาใช้มากที่สุดในโลก ตั้งแต่เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่การคำนวณ การจัดเก็บ และฐานข้อมูล ไปจนถึงเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine learning; ML) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence; AI) Data Lake และการวิเคราะห์ รวมถึงอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of things; IOT) ซึ่งช่วยให้การย้ายแอปพลิเคชันที่มีอยู่ไปยังคลาวด์สะดวกรวดเร็วขึ้นและคุ้มค่าใช้จ่ายยิ่งขึ้นให้ใกล้กับลูกค้าในประเทศไทยมากที่สุด ทั้งสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุด องค์กรที่ใหญ่ที่สุด และหน่วยงานราชการชั้นนำในการขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความสามารถทักษะของแรงงาน และยังพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศแนวหน้าด้านดิจิทัลเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป


จากการประชุมหารือและดูงานบริษัท AWS โดยการต้อนรับจากคุณณัฐชยา พงศ์อัครวัฒน์ (Head of Public Policy) ของ บริษัท AWS (Thailand) และการบรรยายจาก Benoît de Chateauvieux (Startup Sustainability Solutions Architect at AWS) และ Marc Etienne Ouimette (Global Lead, AI Policy (AWS) at Amazon) ทำให้ทราบถึงนโยบาย การลงทุน การทำงานของ AWS รวมถึงการพูดคุย การแชร์ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือต่อไปในอนาคตระหว่าง AWS กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานใน อว. ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ AWS สนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพเริ่มสร้าง เปิดตัว และขยายโซลูชัน ในเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ รัฐบาลดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ เกษตรกรรม และอวกาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ อว. ในการช่วยขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลกเพื่อให้เข้าถึงบริการคลาวด์ที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ทั้งขนาดและความเร็วเช่นเดียวกับองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ด้านการฝึกอบรม AWS ได้ฝึกอบรมบุคคลากรเพื่อให้มีทักษะด้านคลาวด์มาตั้งแต่ปี 2560 และวางแผนที่จะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและองค์กรภาครัฐในประเทศไทยต่อไปเพื่อพัฒนาชุดทักษะด้านดิจิทัลของประเทศ AWS ยังลงทุนด้านการเพิ่มทักษะให้กับนักพัฒนานักเรียน และผู้นำไอทีรุ่นต่อไปในประเทศ ผ่านทางโปรแกรมต่างๆ เช่น AWS Skills Builder, AWS Academy และ AWS Educate ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเรียนจากหลักสูตรของวิทยาลัยผ่านทางโปรแกรมการฝึกอบรมเต็มเวลาและเนื้อหาการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ประโยชน์จาก Cloud Career Pathways ผ่านทาง AWS Educate โดยโปรแกรมของ AWS เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนจากทุกระดับประสบการณ์ สามารถเตรียมพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพในระบบคลาวด์


ด้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในปี 2562 AWS ได้ร่วมก่อตั้ง Climate Pledge ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาขององค์กรที่จะให้คาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2583 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสหนึ่งทศวรรษ AWS มีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการย้าย workload ไปยังระบบคลาวด์พบว่าการประมวลผลในระบบคลาวด์มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากกว่าศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ถึง 5 เท่า และการย้าย workload การประมวลผลจากศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร สู่ระบบคลาวด์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรได้มากกว่า 78%


เดือนกุมภาพันธ์ 2565 AWS ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ในเรื่องของการกระตุ้นนวัตกรรมของรัฐบาลในการพัฒนาบริการสำหรับประเทศไทย ในการรักษาข้อมูลที่สำคัญและโครงสร้างพื้นฐานให้ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาครัฐทั่วประเทศไทย เพื่อช่วยในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบคลาวด์ที่ใช้ในภาครัฐของประเทศไทย ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้รัฐบาลไทยสามารถพิจารณาใช้ AWS เป็นส่วนหนึ่งของ Government Data Center and Cloud service (GDCC) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ส่วนกลางสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐสามารถทดลองกับเทคโนโลยีคลาวด์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและบรรลุภารกิจได้ เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับภาครัฐและรัฐบาลของประเทศไทยในการพัฒนาบริการทางดิจิทัลให้แก่ประชาชน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย เพิ่มความปลอดภัย และปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน


bottom of page