top of page

แผ่นดินไหว: ความฉับพลันที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก

  • Writer: OST Washingtondc
    OST Washingtondc
  • May 20
  • 1 min read

Foreshock Mainshock Aftershock

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนผ่านกัน พื้นผิวที่เปลือกโลกเคลื่อนผ่านกันเรียกว่า รอยเลื่อน (fault)   ตำแหน่งที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกซึ่งเป็นจุดที่เกิดแผ่นดินไหวเรียกว่า hypocenter หรือ focus และตำแหน่งที่อยู่เหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวบนพื้นผิวโลกเรียกว่า epicenter

บางครั้งแผ่นดินไหวอาจเกิด foreshock หรือแผ่นดินไหวนำ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดก่อนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในสถานที่เดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้ว่าแผ่นดินไหวนี้เป็นแผ่นดินไหวนำ หรือไม่จนกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดเรียกว่า mainshock หรือ แผ่นดินไหวหลัก และมักจะมี aftershock หรือ แผ่นดินไหวตามภายหลังอีกด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกันกับแผ่นดินไหวหลักแต่มีขนาดเล็กกว่า โดย แผ่นดินไหวตามอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปีขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นดินไหวหลัก


ภาพจำลองศูนย์กลางแผ่นดินไหว 

(ที่มา: Earth Science: Chapter 5 Earthquakes and Earth's Interior, https://www.youtube.com/watch?v=RZlUl2dCBgg)



อะไรทำให้เกิดแผ่นดินไหว?

โลกมีชั้นหลักสี่ชั้น ได้แก่ แกนใน แกนนอก แมนเทิล และเปลือกโลก เปลือกโลกและส่วนบนของแมนเทิลประกอบกันเป็นพื้นผิวของโลก แต่พื้นผิวนี้ไม่ได้อยู่เป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด แต่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น ชิ้นส่วนเหล่านี้ยังเคลื่อนที่ช้าๆ ด้วยการเลื่อนผ่านและชนกัน ชิ้นส่วนเหล่านี้เรียกว่าแผ่นเปลือกโลก (tectonic plates) ขอบแผ่นเปลือกโลก (plate boundaries) ประกอบด้วยรอยเลื่อนจำนวนมาก และแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ทั่วโลกเกิดขึ้นบนรอยเลื่อนเหล่านี้ เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไปไกลพอ ขอบจะหลุดออกจากรอยเลื่อนหนึ่งรอยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น

โดยในขณะที่ขอบของรอยเลื่อนติดกันอยู่ และส่วนที่เหลือแผ่นเปลือกโลกกำลังเคลื่อนที่ พลังงานที่จะทำให้แผ่นเปลือกโลกเลื่อนผ่านกันจะถูกกักเก็บเอาไว้ เมื่อแรงของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่เอาชนะแรงเสียดทาน (friction) ของขอบรอยเลื่อนได้และหลุดออก พลังงานที่กักเก็บเอาไว้ทั้งหมดก็จะถูกปลดปล่อยออกมา โดยพลังงานจะแผ่กระจายออกจากรอยเลื่อนไปในทุกทิศทางในรูปแบบของคลื่นไหว (seismic waves) คล้ายระลอกคลื่นในบ่อน้ำ คลื่นไหวนี้จะทำให้โลกสั่นสะเทือนในขณะที่เคลื่อนผ่าน และเมื่อคลื่นไปถึงพื้นผิวโลก พื้นดินและทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดินก็จะสั่นสะเทือน เช่น บ้านและอาคารต่างๆ


แผนที่โลกแสดงแผ่นเปลือกโลก (tectonic plates) และขอบแผ่นเปลือกโลก (plate boundaries)


Ring of Fire

วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) คือแนวภูเขาไฟและร่องลึกใต้ทะเล (oceanic trenches) ที่ล้อมรอบแอ่งแปซิฟิกบางส่วน เป็นเขตที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง ส่วนโค้งของเกาะภูเขาไฟที่อยู่บนบกจะขนานไปกับร่องลึกดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ส่วนโค้งของเกาะใกล้ร่องลึกอะลูเชียน (Aleutian Trench) เป็นแนวภูเขาไฟยาวที่ประกอบกันเป็นหมู่เกาะอะลูเชียน



แผนที่ Pacific Rim แสดงวงแหวนของภูเขาไฟที่มีพลัง แนวภูเขาไฟ

(รวมถึงหมู่เกาะอะลูเชียนที่ด้านบน) และแนวขอบของแผ่นเปลือกโลกที่ล้อมรอบมหาสมุทรแปซิฟิก

(ที่มา: Pacific Rim, https://www.britannica.com/place/Aleutian-Islands)



เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2025 ที่ผ่านมาได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 แมกนิจูดเกิดขึ้นใกล้เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเวลา 10.08 น. ตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Geological Survey: USGS) ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่ระยะ 2.49 ไมล์ทางใต้ของเมืองจูเลียน ในเขตซานดิเอโก ตามแผนที่ของ USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ทั่วทั้งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ไปจนถึงประเทศเม็กซิโก โดยนักแผ่นดินไหววิทยา ดร. Lucy Jones กล่าวว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนเอลซินอร์ (Elsinore Fault) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andreas Fault) หนึ่งในรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ ดร. Jones กล่าวว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้มีความลึกลงไปใต้พื้นผิวโลกประมาณ 8 ไมล์ โดยมีแผ่นดินไหวขนาด 3.3 แมกนิจูดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2025 ในพื้นที่เดียวกันที่เป็นสัญญาณเตือนแผ่นดินไหวขนาด 5.2 แมกนิจูดในวันต่อมา นอกจากนี้ยังมีการปะทุของภูเขาไฟ Kilauea ในฮาวาย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2025 ภูเขาไฟ Kilauea เข้าสู่ช่วงปะทุรุนแรง โดยมีน้ำพุลาวาสูงถึง 650 ฟุต (200 เมตร) และลาวาปริมาณมากไหลปกคลุมประมาณ 20 % ของพื้นปล่องภูเขาไฟ การปะทุในครั้งนี้ยังอยู่เฉพาะบริเวณยอดเขาภายในอุทยานแห่งชาติภูเขาไฟฮาวาย และระดับการเตือนภัยภูเขาไฟถูกกำหนดเป็น "เฝ้าระวัง" ซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่สงบพร้อมกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง 


แผนที่แสดงรอยเลื่อนบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

เช่น รอยเลื่อน San Andreas Fault และ รอยเลื่อน Hayward เป็นต้น

·       มีความน่าจะเป็น 72 % ในการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูดขึ้นไปในภูมิภาคนี้

·       เปอร์เซ็นต์ที่แสดงภายในวงกลมคือความน่าจะเป็นที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูดขึ้นไป

บนระบบรอยเลื่อนนั้นภายในปี 2043

·       เส้นหนาแต่ละสีแสดงถึงรอยเลื่อนขอบแผ่นเปลือกโลกหลัก

·       เส้นสีเหลืองแสดงถึงรอยเลื่อนที่ไม่เป็นที่รู้จักและมีขนาดเล็ก

(ที่มา: Map of known active geologic faults in the San Francisco Bay region, 



สามารถอ่านหัวข้ออื่นๆ ได้แก่

  • แผ่นดินไหวถูกบันทึกอย่างไร?

  • ขนาดของแผ่นดินไหว

  • เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ เมืองมัณฑะเลย์ ที่ส่งผลถึงไทย

  • Aftershock ที่พยากรณ์โดย USGS

  • Earthquake Early Warning

  • ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และชิลี

  • กระเป๋าฉุกเฉินหากเกิดภัยพิบัติ ควรมีอยู่อะไรบ้าง? 

  • สัตว์สามารถทำนายแผ่นดินไหมได้หรือไม่?

  • นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายแผ่นดินไหวได้หรือไม่?

  • หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการแผ่นดินไหวและภัยพิบัติของสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในแถบอเมริกาใต้






















สามารถติดตามวารสารข่าวรายเดือนได้จาก https://www.ohesdc.org/utmostsciences

 

Comments


สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

Office of Higher Education, Science, Research and Innovation
Royal Thai Embassy, Washington D.C.

2025 All Rights Reserved
+1 (202) 944-5200
ost@thaiembdc.org
facebook.com/ohesdc

 
1024 Wisconsin Ave. NW Suite 104,
Washington D.C 20007
bottom of page