โดรนทางการแพทย์เป็นยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับประเภทหนึ่งที่ผู้ให้บริการด้านการแพทย์สามารถใช้เพื่อขนส่งสิ่งของทางการแพทย์และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยจากระยะไกล ตัวอย่างเช่น สามารถส่งเลือด วัคซีน ยาคุมกำเนิด เซรุ่มถอนพิษงูกัด และเวชภัณฑ์อื่นๆ ไปยังพื้นที่ชนบทได้ และสามารถเข้าถึงคนไข้ที่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ทันทีภายในไม่กี่นาที ซึ่งในบางกรณีอาจหมายถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นกับความตาย
โดรนมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและมีราคาการผลิตที่ถูกลง ทำให้เป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่เหมาะสำหรับผู้ให้บริการทางการแพทย์ทั้งในกรณีฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน จึงไม่แปลกใจเลยที่ตลาดโดรนทางการแพทย์กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากรายงานของ Acumen Research and Consulting ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระดับโลกด้านการศึกษาวิจัยตลาด อุตสาหกรรมโดรนทางการแพทย์ทั่วโลกกำลังเติบโตอยู่ในเส้นทางที่จะมีมูลค่าประมาณ 643 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2570

โดรนขนส่งยาและเวชภัณฑ์จาก Zipline
ในแต่ละปีมีคนนับล้านทั่วโลกต้องตาย เพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาหรือยาที่ต้องการได้ทันเวลา โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา การเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลนั้นยิ่งทำได้ยากลำบาก มีต้นทุนสูง และทำได้ช้า โจทย์นี้กลายเป็นที่มาของธุรกิจสตาร์ตอัพอย่าง Zipline ซึ่งนำโดรนมาช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงการแพทย์ในประเทศที่มีระบบถนนไม่ดี จนเปลี่ยนโฉมวงการสุขภาพช่วงวิกฤติมาแล้ว
แม้ Zipline จะถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐฯ แต่บริการจัดส่งทางโดรนครั้งแรกของบริษัทในปี 2016 กลับไม่ได้เริ่มต้นในประเทศ เนื่องจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ Federal Aviation Authority (FAA) มีความเข้มงวดมาก โดรนมากกว่าล้านเครื่องและนักบินทุกคนต้องลงทะเบียนทั้งหมด แถมยังมีข้อบังคับว่าโดรนต้องบินอยู่ในระยะสายตา และห้ามบินในเวลากลางคืน
การให้บริการจัดส่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครั้งแรกของ Zipline จึงเกิดขึ้นที่ประเทศรวันดา ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สภาพถนนย่ำแย่ ยานพาหนะสัญจรยากลำบาก ยิ่งในช่วงฤดูฝน ถนนหลายเส้นถูกตัดขาด การเข้าถึงหมู่บ้านหลายแห่งทางถนนเป็นเรื่องยาก ในขณะที่สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของหญิงชาวรวันดา คือ การตกเลือดระหว่างทำคลอด กรณีนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและการถ่ายเลือดด้วยผลิตภัณฑ์เลือดที่เหมาะสม โดยปกติถ้าขนส่งทางถนนอาจใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อไปคลังเลือดที่ใกล้ที่สุด

โดรนของ Zipline สามารถส่งมอบเลือดให้กับผู้ป่วยภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที (ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร) โดยแพทย์สามารถแจ้งขอเบิกเลือดไปยังศูนย์กระจายสินค้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จะทำการบรรจุเลือดลงกล่องเก็บความเย็น และติดตั้งกับโดรนเพื่อขนส่งไปยังที่หมาย แพทย์ที่อยู่ปลายทางจะได้รับข้อความแจ้งเตือนก่อนโดรนมาถึงประมาณหนึ่งนาที เพื่อรอรับสินค้า จากนั้นโดรนจะปล่อยกล่องบรรจุเลือดพร้อมกับร่มชูชีพร่อนลงถึงพื้นอย่างปลอดภัย
ปัจจุบัน Zipline ได้ร่วมมือกับรัฐบาลรวันดาขนส่งเวชภัณฑ์ต่างๆ ไปยังโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์จำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับสามารถย่นระยะเวลาการรักษาให้เร็วขึ้นสำหรับชาวรวันดานับล้านคน และรวันดาจึงกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มใช้บริการขนส่งดังกล่าวในเชิงพาณิชย์
จากความสำเร็จในรวันดา Zipline ได้ขยายบริการไปยังประเทศกานาในปี 2019 เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการนำโดรนมาใช้ส่งวัคซีน รวมทั้งรับส่งอุปกรณ์และผลตรวจเชื้อโควิดระหว่างชนบทห่างไกลกับห้องแล็บในเมืองได้วันละ 15,000 ชุด
กานาเป็นอีกหนึ่งประเทศในแอฟริกาที่ไม่ได้ขาดแคลนชุดตรวจเชื้อโควิด แต่อุปสรรคใหญ่คือระบบการคมนาคมขนส่งที่ด้อยประสิทธิภาพ ทำให้การกระจายชุดตรวจเชื้อโควิดหรือการนำตัวอย่างเชื้อกลับมาวินิจฉัยที่ห้องแล็บในเมืองต้องใช้เวลามากถึง 2-7 ชั่วโมง หรืออาจใช้เวลาข้ามวันในบางพื้นที่ที่ห่างไกลมากๆ แพทย์ในชนบทจึงไม่สามารถส่งตัวอย่างเชื้อมาห้องแล็บที่มีอยู่เพียง 2 แห่งได้ทันที แต่ต้องรอรวบรวมหลายเคสก่อน ถึงส่งมาพร้อมกันทีเดียว ทำให้การตรวจเชื้อล่าช้าไปกว่าเดิม
โดรนนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Maryland
ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland Medical Center - UMMC) ในบัลติมอร์ สหรัฐฯ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และโรงพยาบาลเซนต์แอกเนส ได้นำโดรนขึ้นบินทดสอบนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายไตเป็นครั้งแรกของโลก
โดรนลำดังกล่าวถูกออกแบบขึ้นมาพิเศษพร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการมอนิเตอร์อวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายตลอดการขนส่งโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยกล้อง อุปกรณ์ติดตาม อุปกรณ์สื่อสาร ระบบความปลอดภัยพิเศษสำหรับการบิน ซึ่งใช้เวลาในการนำส่งถึงปลายทางเพียงแค่ 10 นาที ก่อนจะนำไตจากผู้บริจาคไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยหญิงวัย 44 ปีที่มีอาการภาวะไตวาย และการทดลองในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยที่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
นายแพทย์โจเซฟ สกาเลีย (Joseph Scalea) หนึ่งในทีมแพทย์ผู้ผ่าตัดได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จที่เกิดขึ้นของการทดลองในครั้งนี้ ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่า การใช้โดรนเพื่อนำส่งอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายในผู้ป่วยถือเป็นประโยชน์และความก้าวหน้าในวงการการแพทย์ ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านการจัดส่งที่ล่าช้าในอดีตได้เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าจะสามารถเดินทางได้ไกลขึ้นที่ระยะทางประมาณ 50-160 กิโลเมตร

ที่มา
Commentaires