โรคติดเชื้อคืออะไร
โรคติดเชื้อ (Infectious Diseases) คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งโดยมากจะมีขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือที่เรียกกันว่า จุลินทรีย์ (Microorganism) และสิ่งมีชีวิตที่ก่อโรคเหล่านี้ เรียกว่า Pathogen หรือ Infectious Agent อันได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อริกเกตเซีย เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ฯลฯ โดยสามารถถ่ายทอด หรือแพร่เชื้อ หรือติดต่อสู่ผู้อื่นหรือสู่สัตว์อื่นๆ ได้ โดยทั่วไปโรคติดเชื้อมักเป็นโรคติดต่อ แต่บางโรคก็เป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น กรณีโรคเกิดจากสารพิษของแบคทีเรียไม่ใช่เกิดจากตัวแบคทีเรียเช่น โรคอาหารเป็นพิษชนิดเกิดจากสารพิษของแบคทีเรีย หรือโรคบาดทะยัก
การที่จะทำให้เกิดโรคมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ เช่นชนิดและปริมาณของเชื้อโรค ภูมิต้านทานของร่างกายผู้ป่วย ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นต้น บางครั้งเชื้อโรคก็ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เช่น หากภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็จะสามารถกำจัดเชื้อได้ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เชื้อโรคก็จะก่อเหตุทันที กระบวนการติดเชื้อเป็นปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับว่าร่างกายสามารถตอบโต้หรือจัดการกับเชื้อโรคได้หรือไม่ เชื้อโรคที่เรียกว่า ‘จุลชีพประจำถิ่น’ อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์โดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น ในลำไส้ นอกจากจะช่วยผลิตสารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคได้ด้วย
เชื้อก่อโรค (Pathogen) สามารถเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราหรือปรสิต มีจุลชีพจำนวนมากอาศัยอยู่ในร่างกายของเรา โดยไม่ก่อให้เกิดโรคและเป็นประโยชน์ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือในบางสภาวะ จุลชีพดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดโรคได้ เราเรียกการติดเชื้อในลักษณะนี้ว่าการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเชื้อก่อโรคนั้นสามารถพบได้ทั่วไป โดยเชื้อเหล่านี้มีหลากหลาย สามารถแบ่งออกได้เป็น
แบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่สามารถเห็นรูปร่างและลักษณะได้โดยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นเชื้อที่มีขนาดเล็กมาก ดังที่กล่าวมาแล้วว่าไม่ใช่แบคทีเรียทุกชนิดที่มีปัญหาและก่อโรคในร่างกาย แต่บางชนิดทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้อีกด้วย เช่น Lactobacillus acidophilus เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ทำหน้าที่ย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารบางอย่างได้ดียิ่งขึ้น เชื้อก่อโรคจากแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือ การติดเชื้อวัณโรค เป็นต้น
ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่าเซลโดยทั่วไป และต้องการเซลของสิ่งมีชีวิตในการแบ่งตัว ซึ่งที่รู้จักกันมีหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เริม หัด สุกใส ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
เชื้อรา ซึ่งมีสองประเภทใหญ่ๆ หากแบ่งตามรูปร่างคือ ยีสต์ และ รา การติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อรามักต้องการการเสื่อมหรือเสียหายของระบบป้องกันตัวทำให้เข้าสร้างความเสียหายกับร่างกายได้
โปรโตซัว เป็นสัตว์เซลเดียวที่มีลักษณะการดำรงค์ชีวิตคล้ายสัตว์ การติดเชื้อโปรโตซัวมักเป็นการติดเชื้อผ่านอาหารที่ไม่สะอาด หรือ เป็นอาหารที่อยู่ในวงจรชีวิตของโปรโตซัวเหล่านั้น
หนอนตัวกลม โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะกลายเป็นตัวเต็มไว และอาจเกิดโรคกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ลำไส้ ปอด ตับ ผิวหนัง
โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) คือ โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในมนุษย์ซึ่งได้รับมาจากสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าอาจจะทำให้สัตว์ที่มีเชื้อโรคนั้นแสดงหรือไม่แสดงอาการก็ได้ โดยมีทั้งโรคอุบัติใหม่ (emerging disease) และโรคอุบัติซ้ำ (re-emerging) ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบในมนุษย์มีความสามารถในการถ่ายทอดระหว่างคนและสัตว์
โรคติดเชื้อสามารถส่งผ่านจากผู้ป่วยไปสู่คนปกติได้ในหลายช่องทาง เช่น การหายใจ การสัมผัส การกินอาหารปนเปื้อน ถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด เป็นต้น จึงเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคติดต่อ” (Transmissible disease หรือ Communicable disease)
การติดต่อของจุลชีพก่อโรคหรือเชื้อโรค
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดโรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมหลายช่องทาง ได้แก่
การสัมผัสเชื้อโรคทางตรง เป็นการติดต่อโดยส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ติดโรค ซึ่งช่องทางของการติดเชื้อสามาถแบ่งออกได้เป็น 5 ช่องทางใหญ่ๆ ดังนี้
1. การติดต่อจากคนสู่คน เป็นวิธีการติดเชื้อที่พบได้บ่อย โดยเป็นการแพร่เชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส โดยวิธีการต่างๆ เช่น
การสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับไวรัส เช่น โรคอีสุกอีใส โรคกลาก การหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศจากการไอ จาม ทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น สัมผัสเสมหะสามารถทำให้เกิดวัณโรค การสัมผัสสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิสามารถทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
และการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นต้น
2. การติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น การกัดหรือข่วนโดยสัตว์ที่มีการติดเชื้อ ซึ่งอาจแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ได้ซึ่งการติดเชื้อบางอย่างอาจทำให้สามารถเสียชีวิตได้ นอกจากนี้สิ่งปฏิกูลของสัตว์ยังสามารถแพร่เชื้อได้อีกด้วย ตัวอย่างการแพร่เชื้อจากสัตว์ เช่น การได้รับเชื้อ ท็อกโซพลาสโมสิสจากการเก็บกวาดอุจจาระของแมว
3. การติดต่อผ่านแมลง เช่น ยุง หมัด เห็บ ซึ่งนำเชื้อจากสัตว์หรือมนุษย์ที่ติดเชื้อ ไปสู่มนุษย์รายอื่น ซึ่งเราเรียกแมลงเหล่านี้ว่าพาหะ เช่น ยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้มาลาเรีย เป็นต้น
4. การติดต่อผ่านอาหารที่ปนเปื้อน ในอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนอาจทำให้มีเชื้อบางชนิดมีปริมาณมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นช่องทางของการติดเชื้อได้ เช่น การรับประทานอาหารที่ทำไม่สุก
5. การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถถ่ายทอดเชื้อก่อโรคบางชนิดได้ โดยผ่านทางรกโดยตรง หรือ ผ่านทางการคลอดทางช่องคลอด
การสัมผัสเชื้อโรคทางอ้อม เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิด สามารถอยู่ภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยอยู่ตามสภาพแวดล้อม เช่น ราวบันได ลูกบิด เสื้อผ้า ตุ๊กตา ผ้าห่ม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ของผู้ติดเชื้อ ทำให้เมื่อคนไปสัมผัส เช่น มือไปโดนแล้วมาสัมผัสจมูก ปากหรือดวงตา จะสามารถรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกทาง ดังนั้น การล้างมือก่อนสัมผัสใบหน้าของตนเองจึงเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่ง
ที่มา:
Comments