top of page

EU และ US จะทำงานร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

สำนักงานด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของสหภาพยุโรป (EU) และสถาบันความปลอดภัย AI ของสหรัฐอเมริกาได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการประเมินโมเดล AI ความร่วมมือนี้ได้รับการประกาศหลังจากการประชุมสภาการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา-สหภาพยุโรป (U.S.-E.U. Trade and Technology Council  หรือ TTC) ครั้งที่ 6 ในเมืองเลอเฟิน ประเทศเบลเยียม


ผู้แทนจากทั้งคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐบาลสหรัฐฯ นำโดย Margrethe Vestager และ Valdis Dombrovskis รองประธานบริหาร และ Thierry Breton กรรมาธิการ ซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมาธิการยุโรป Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ, Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ Katherine Tai ผู้แทนการค้า ได้เข้าร่วมเจรจา โดยความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นมากกว่าการทดสอบความปลอดภัย และครอบคลุมแง่มุมต่างๆ เช่น เกณฑ์มาตรฐาน วิธีการ และการตีความตามกฎระเบียบ


Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (ขวา) Margrethe Vestager รองประธานบริหารสหภาพยุโรป และ Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมสภาการค้าและเทคโนโลยีสหภาพยุโรป-สหรัฐฯ ครั้งที่ 6 ในเมืองเลอเฟิน ประเทศเบลเยียม เครดิตภาพ: Aurore Martignoni / สหภาพยุโรป


Margrethe Vestager เน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจาก AI ต่อบุคคล ในขณะที่ข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามุ่งเน้นไปที่ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติเป็นหลัก ทั้งสองฝ่ายยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของตน ต่อแนวทางการควบคุม AI ตามความเสี่ยงดังที่ระบุไว้ในกฏการใช้งาน AI ของสหภาพยุโรป (EU’s AI Act) การทำงานร่วมกันนี้สอดคล้องกับแผนงานร่วมกันเกี่ยวกับ AI ซึ่งได้ตกลงไว้ในการประชุมครั้งก่อน รวมถึงความพยายามในการสร้างคำจำกัดความทั่วไปสำหรับคำศัพท์ AI ที่สำคัญ นอกจากนี้ ความร่วมมือนี้ยังมุ่งหวังที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การตอบสนองในกรณีฉุกเฉิน และการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ

 

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การค้นหาทางเลือกอื่นแทนสารเคมีที่เป็นอันตรายในชิป (chips) โดยใช้ AI และแฝดดิจิทัล (digital twins)  ซึ่งมีการวางแผนที่จะขยายข้อตกลงออกไปอีกสามปี ซึ่งข้อตกลงนี้เกี่ยวกับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain resilience ) และการแบ่งปันข้อมูล โดยจะจัดการกับการบีบบังคับทางเศรษฐกิจและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ "ชิปแบบเดิม" ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการครอบงำของจีนในด้านนี้ และกำลังดำเนินการสำรวจเพื่อระบุการบิดเบือนของตลาด มีการตั้งเป้าที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านเงินอุดหนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้มีการทำงานร่วมกันในการวิจัยเทคโนโลยี 6G โดยมุ่งเน้นไปที่ไมโครอิเล็กทรอนิกส์, AI, โซลูชันคลาวด์ (cloud solutions) และความปลอดภัย อีกทั้งเทคโนโลยีควอนตัม ทักษะดิจิทัล และพลังงานสะอาด ก็เป็นเนื้อหาภายใต้ความร่วมมือเช่นกัน

 

อนาคตที่ไม่แน่นอนของสภาการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา-สหภาพยุโรป

มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของ TTC ในการประชุมนานาชาติ เกี่ยวกับประเด็นด้าน AI ในการประชุมสุดยอดด้านความปลอดภัย AI ของสหราชอาณาจักร (G7) และสภายุโรป บางคนคาดการณ์ว่าการประชุม TTC นี้อาจเป็นครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเป็นไปได้ที่จะมีการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือของตน โดยตัวแทนตั้งข้อสังเกตถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในช่วงสามปีที่ผ่านมาในด้านเทคโนโลยีและความร่วมมือทางการค้า แม้ว่าจะมีความท้าทายอยู่ก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ได้มีการเน้นย้ำถึงความสำเร็จของ TTC ในการส่งเสริมให้เกิดความสอดคล้องในประเด็นต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาถึงน้ำหนักทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริการวมกัน ในส่วนของสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนนั้น การทำงานระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาถือเป็นสิ่งสำคัญในการเผชิญกับความท้าทายร่วมกันในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้


ข้อมูลอ้างอิง

EU and US to work together on AI guidelines สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2567 จาก https://sciencebusiness.net/news/ai/eu-and-us-work-together-ai-guidelines

bottom of page