top of page

ความน่ากลัวของผลิตภัณฑ์เสริมความงาม



ผลิตภัณฑ์เสริมความงามตามห้างสรรพสินค้า ที่มีการโฆษณาถึงสรรพคุณมากมาย ไม่ว่าจะช่วยทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ลดรอยเหี่ยวย่น ลดปัญหาผมฟูไร้น้ำหนัก ลดปัญหาผมร่วง ช่วยให้ผมเกิดใหม่เร็วขึ้น ไปจนถึงการเปลี่ยนสีของริมฝีปากหรือสีผิว สรรพคุณที่ฟังดูดี ยั่วยวนให้สาวๆ ทั้งหลายตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาทดลองใช้เพราะคิดว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจจะดีจริงๆ ก็เป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำการตลาดอย่างมากกับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยเรียนที่มีอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และสิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามเหล่านี้ อาจมีสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ได้ให้คำจำกัดความเครื่องสำอาง ที่รวมถึงผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย น้ำหอม โลชั่น ยาทาเล็บ แชมพู และผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมอื่นๆ ตลอดจนเครื่องสำอางสำหรับดวงตา ริมฝีปาก และใบหน้า ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีการระบุเพื่อในการรักษา จะไม่ได้รับการควบคุมในลักษณะเดียวกับยาจากรัฐบาลกลาง ซึ่งหมายถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะโฆษณาหรือสื่อสารเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อย่างไร สารเคมีหลายประเภทที่ผู้ผลิตใส่เข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น สาร Oxybenzone ที่ช่วยปกป้องผิวจากการทำลายของแสงแดด, Phthalates สารเพิ่มกลิ่นหอม, Parabens และ Triclosan สำหรับต้านจุลชีพ, PFAS เพื่อเพิ่มความทนทาน อย่างไรก็ตาม สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด แต่การหาวิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัส ยังคงเป็นเรื่องยาก โดยที่ผ่านมา มีการศึกษาที่ตรวจพบสารเคมีในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ประจำวัน เช่น สาร Phthalates ที่มีอยู่ในน้ำหอม เจลอาบน้ำ แชมพู และยาทาเล็บ, สาร Parabens ในโลชั่น ครีม แชมพู ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า และลิปสติก, สาร Triclosan ในยาสีฟัน สบู่ และน้ำยาทำความสะอาดอื่นๆ, สาร Oxybenzone ในครีมกันแดด โลชั่น ยาสีฟัน และลิปสติก โดยสารเคมีเหล่านี้ สามารถผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เดียวกันได้ ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสสารเคมีหลายชนิดพร้อมกัน


ความเสี่ยงต่อสุขภาพ

เมื่อมีการทาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางลงบนผิว สูดกลิ่น หรือใช้แปรงฟัน สารเคมีสามารถเดินทางเข้าสู่ร่างกาย โดยพุ่งเป้าไปที่ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบประสาท และระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยสารเคมีเหล่านี้ สามารถเลียนแบบฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นตามธรรมชาติหรือขัดขวางตัวรับฮอร์โมน ซึ่งส่งผลให้การผลิตฮอร์โมน การหลั่ง หรือการขนส่งเกิดความผิดปกติ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาจนำไปปัญหาเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ สเปิร์มมีคุณภาพต่ำ การแท้งบุตร และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อีกทั้ง ยังสามารถนำไปสู่การหยุดชะงักของต่อมไทรอยด์ การเติบโตและการพัฒนาที่ผิดปกติด้วย


นอกจากนี้ สารเคมีที่เติมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยังอาจมีผลต่อระบบประสาท เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องทางสติปัญญา ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งระดับความเสี่ยงนั้น ยังไม่สามารถวัดระดับได้อย่างชัดเจน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ชนิดของสารเคมี และการทำปฏิกิริยากับระบบต่อมไร้ท่อ โดยมีการศึกษาหนึ่ง ศึกษาในผู้หญิงอายุ 18-44 ปีในรัฐยูทาห์และแคลิฟอร์เนียพบว่า การได้รับสาร Phthalates นั้นสัมพันธ์กับอัตราการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งอาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ได้


การควบคุมสารเคมีเหล่านี้

ผู้หญิงวัยเรียนพบว่า โดยเฉลี่ยมีการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล 8 ชนิดที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ซึ่งเพิ่มโอกาสในการสัมผัสกับสารเคมีสูงขึ้น นอกจากนี้ ราว 80% ของผู้หญิงไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของตนมีสารเคมีอันตรายเหล่านี้หรือไม่ สหภาพยุโรปได้เริ่มมีการควบคุมสารเคมีเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นที่แรก ซึ่งสหรัฐฯ ได้เริ่มมีการควบคุมสารเคมีเหล่านี้ในบางรัฐ เช่น รัฐวอชิงตันเพิ่งผ่านกฎหมายที่ห้าม ตะกั่ว PFAS, Phthalates, Formaldehyde และสารเคมีที่เป็นอันตรายอื่นๆ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2568 และสร้างแรงจูงใจใหม่สำหรับบริษัทต่างๆ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น รัฐนิวยอร์กสั่งห้ามใช้สารปรอทซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบประสาทที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผิวขาวขึ้น ซึ่งผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 รัฐแคลิฟอร์เนีย มินนิโซตา และเมนยังมีข้อจำกัดกว้างๆ เกี่ยวกับการใช้สารเคมีในเครื่องสำอาง ซึ่งการออกกฎห้ามใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในระดับประเทศนั้น คาดว่าจะสามารถลดความเสี่ยงของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้ดีที่สุด



 




bottom of page