top of page

แก่นกลางของดาวอังคาร



ดาวอังคาร - เพื่อนบ้านของโลกในระบบสุริยะ และอาจจะเป็นโลกใบที่สองในอนาคตของคนเรา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลของดาวอังคาร เพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ อีกส่วนสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาคือ แก่นกลางของดาวเคราะห์ เป็นอีกปัจจัยที่จะสามารถบอกได้ว่าสิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้หรือไม่ อย่างเช่นแก่นกลางของโลก ทำงานเปรียบเหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีกระบวนการไดนาโม (Dynamo) ที่เกิดจากการไหลของโลหะภายในแก่นกลาง เกิดกระแสของอิเล็กตรอนและทำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ช่วยปกป้องโลกจากรังสีดวงอาทิตย์และอนุภาคคอสมิกที่เป็นอันตราย เป็นต้น ทั้งนี้ ดาวอังคารสูญเสียกระบวนการไดนาโมไปเมื่อหลายพันปีก่อน จึงไม่มีสนามแม่เหล็กที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันให้กับพื้วผิว ทำให้พื้นผิวดาวมีสภาพอากาศที่รุนแรง


สำหรับการศึกษาแก่นกลางของดาวอังคารนี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลที่ได้จาก InSight lander ขององค์การนาซ่าที่เป็นเครื่องมือที่ใช้จับแรงสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร (Marsquake) โดยภาระกิจของ InSight lander ในช่วงเวลา 4 ปี สามารถจับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้มากกว่า 1,000 ครั้ง แต่ทั้งนี้ มี 2 ครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2564 ใกล้กับหุบเขา Valles Marineris ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของดาวอังคาร และครั้งที่สองในเดือนกันยายน 2564 เกิดจากการชนของอุกกาบาต ซึ่งแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแก่นกลางของดาวอังคารได้เพิ่มขึ้นและแม่นยำมากขึ้น


ดาวอังคารมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6,779 กม.(โลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12,742 กม.) โดยแก่นกลางมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,560-3,620 กม. (ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าที่เคยประมาณการไว้ราว 20-50 กม.) ภายในประกอบด้วยเหล็กเหลว และธาตุที่เบากว่าเหล็กอีกประมาณ 20% ส่วนใหญ่เป็นกำมะถัน แต่ก็มีออกซิเจน คาร์บอน และไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบด้วย ส่วนแก่นกลางของโลกประกอบด้วยเหล็กเหลวประมาณ 85% - 90% และนิกเกิลประมาณ 10% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แก่นกลางของดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าและมีความหนาแน่นน้อยกว่าแก่นกลางของโลก รวมถึง มีธาตุองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและกระบวนการการก่อตัวขึ้นของดาวเคราะห์ ซึ่งการศึกษาโครงสร้างและสภาพภายในของดาวอังคารนี้ จะนำไปสู่การค้นพบที่มากขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจองค์ประกอบของดาวอังคารมากยิ่งขึ้นที่นอกเหนือจากการสำรวจแค่บนพื้นผิวจากวงโคจร


 

ที่มา:

bottom of page